'ดีเซล'จากพลาสติกกู้โลก&ธุรกิจ

'ดีเซล'จากพลาสติกกู้โลก&ธุรกิจ

“P2F” ตัวเร่งปฏิกิริยาสัญชาติไทยมีคุณสมบัติเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นเชื้อเพลิงดีเซลราคาสูง สร้างโอกาสรอดทางธุรกิจแปรรูปขยะพลาสติกที่กำลังเผชิญภาวะขาดทุนและเสี่ยงปิดกิจการ

“P2F” ตัวเร่งปฏิกิริยาสัญชาติไทยมีคุณสมบัติเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นเชื้อเพลิงดีเซลราคาสูง สร้างโอกาสรอดทางธุรกิจให้กับโรงงานแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเตากว่า 10 แห่ง ที่กำลังเผชิญภาวะขาดทุนและเสี่ยงปิดกิจการ

น้ำมันดีเซลจากขยะพลาสติกและยางรถเหมาะใช้กับเครื่องยนต์รอบต่ำ เช่น เครื่องยนต์ทางการเกษตร เรือประมงชายฝั่งหรือนำไปผสมน้ำมันใหม่เพื่อใช้กับรถสิบล้อ กระบะ ซึ่งพบว่าตลาดมีความต้องการสูง ขณะที่ปริมาณขยะวัตถุดิบมีมาก ขาดเพียงแต่มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐเท่านั้น

แก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี

ข้อมูลกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกปีละ 3ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังพบขยะพลาสติกตามชายฝั่งทะเลรอบประเทศไทยถึง 11ล้านตัน คาดว่าอีก10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นมหาศาล

ที่ผ่านมาการกำจัดทำได้ด้วยวิธีเผาหรือฝังกลบ และส่วนหนึ่งใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิสเปลี่ยนให้เป็นน้ำมันเตา ซึ่งปลอดภัย และ ไม่ก่อมลพิษกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการเผาแบบสุญญากาศ ที่อุณหภูมิระหว่าง 200-500 องศาเซลเซียส เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบจากสภาวะของแข็งให้ระเหิดเป็นไอนํ้ามันและก๊าซสังเคราะห์ต่างๆ จากนั้น ทําการควบแน่นสู่สถานะของเหลว ซึ่งผลผลิตที่ได้คือ นํ้ามันเตา

แต่อุปสรรคสำคัญของโรงงานไพโรไลซิส เกิดจากการที่รัฐบาลกำหนดให้ผู้ผลิตต้องขายน้ำมันให้กับโรงกลั่นในราคา 14.50 บาทต่อลิตร แล้วรัฐบาลจะออกเงินอุดหนุนให้บางส่วน แต่กลับกลายเป็นข้อจำกัดทำให้โรงงานไม่สามารถขายน้ำมันได้ส่งผลให้ 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงงานไพโรไลซิสปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก และทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีผู้ที่นำไปแปรรูป

รุ่งโรจน์ เติมสุขนิรันดร ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัดผู้ให้บริการด้าน Design & Engineering ของเครื่องมือทดสอบทางด้านวิศวกรรมเคมีหรือหน่วยงานวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี กล่าวว่า เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ทางบริษัทจึงพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา “P2F” ซึ่งจะเข้ามาช่วยแปลงคุณภาพน้ำมันเตาให้กลายเป็นน้ำมันดีเซลเกรดต่ำ ที่มีราคาจำหน่ายในตลาด 20-25 บาทต่อลิตร สูงกว่าน้ำมันเตาที่มีราคา 12 บาทต่อลิตร

เทคโนโลยีดังกล่าวซึ่งได้จดสิทธิบัตรในประเทศไทยและสิงคโปร์แล้ว จะช่วยโรงงานไพโรไลซิสในประเทศที่มีจำนวนกว่า 10 แห่งมีโอกาสในการเพิ่มรายได้ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใหม่เข้ามาลงทุน แต่ทั้งนี้จะต้องพยายามเข้าไปชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อกับการทำโรงงานไพโรไลซิส

เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก และให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมพัฒนาพลังงานทางเลือกที่ต้องการผลิตน้ำมันไพโรไลซิสออกมา 5 แสนลิตรต่อวัน (นับตั้งแต่ปี2558) ภายใน 10 ปี เท่ากับเป็นการกำจัดขยะได้ 5 แสนกิโลกรัมต่อวัน หรือประมาณปีละ 200 ตัน ที่ผ่านมารัฐบาลเคยทำเตาไพโรไลซิส 4 แห่งแต่ต้องหยุดไปเพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน

ตอบโจทย์ดีมานด์-ซัพพลาย

ปัจจุบันเริ่มนำเทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกริยานี้ไปถ่ายทอดให้กับโรงงานไพโรไลซิส 2-3 รายเป็นโรงงานขนาดกลางและรายเล็กให้สามารถผลิตน้ำมันดีเซลจากขยะพลาสติก ส่วนโรงงานผลิตน้ำยางจะต้องนำเทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยาไปติดท้ายเตาเพราะต้องใช้ความร้อน ก็จะได้น้ำมันดีเซลออกมาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ตลาดหลักของตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวจะเป็นตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน เนื่องจากมีโรงงานผลิตไพโรไลซิสจำนวนมากคิดเป็นมูลค่าหลัก 1,000ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีที่เกาหลี ฟิลิปปินส์และประเทศแถบตะวันออกกลาง บริษัทจึงมีแผนการในปี 2562 จะขยายตลาดไปต่างประเทศในลักษณะการขายสิทธิบัตรเทคโนโลยี จากนั้นจะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดต่อไป

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยาแบบเดียวกันนี้ในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้นทุนการผลิตมีราคาสูงประมาณ 30 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล 25-28 บาททำให้ไม่สามารถนำมาใช้งานจริงในบ้านเรา แต่ตัวเร่งปฏิกิริยาที่คิดค้นขึ้นนี้สามารถทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร ผู้ประกอบการสามารถนำน้ำมันออกมาขายได้ในราคา 20-25 บาท ทำให้ผลประกอบการของโรงงานมีกำไร

ดังนั้น หากปรับแก้กฎหมายได้จะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาลจากการขายน้ำมันดีเซลคุณภาพต่ำให้กับกลุ่มผู้ที่ต้องการใช้จำนวนมากในอุตสาหกรรมการเกษตรและ เรือประมงชายฝั่ง และที่สำคัญเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย