ครม.ไฟเขียวร่างข้อตกลง 'ส่งผู้ลี้ภัยสงครามเมียนมา' กลับประเทศ

ครม.ไฟเขียวร่างข้อตกลง 'ส่งผู้ลี้ภัยสงครามเมียนมา' กลับประเทศ

ครม.ไฟเขียวร่างข้อตกลง “ส่งผู้ลี้ภัยสงครามเมียนมา” กลับประเทศ ตั้งงบดูแล 3.5 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม 2561 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม. ว่า ที่ประชุมครม.มีมมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ(ก.ต.) เสนอ ร่างข้อตกลงการส่งตัวผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน

โดยจากการสำรวจ พบว่า ประเทศไทยมีผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบในประเทศเมียนมา ที่อาศัยอยู่ในแหล่งพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนทั้งสิ้น 9 แห่ง ประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน 4 แห่ง จ.ตาก 3 แห่ง จ.กาญจนบุรี 1 แห่ง และ จ.ราชบุรี 1 แห่ง มีผู้หลบหนีภัยทั้งหมด ประมาณ 99,700 คน

โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดแนวทางสำหรับส่งตัวผู้หลบหนีภัยกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งได้มีการดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว 2 ครั้ง ทั้งหมด 164 ราย ครั้งที่ 1 จำนวน 71 ราย ครั้งที่ 2 จำนวน 93 ราย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะทำงานกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ระหว่างคณะทำงานของทั้ง 2 ประเทศ

โดยได้ออกข้อตกลงร่วม มีข้อสำคัญได้แก่ 1.ทั้งไทยและเมียนมา จะทำงานร่วมกันในลักษณะเป็นมิตร เพื่อส่งตัวผู้หลบหนีภัยกลับไปยังประเทศต้นทาง ด้วยความสมัครใจ ปลอดภัย และยั่งยืน 2.ทางเมียนมาจะจัดกลุ่มผู้หลับหนีภัยแยกเป็นประเภท เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการพิสูจน์ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 2.1 กลุ่มที่มีถิ่นกำเนิดที่สามารถยืนยันอย่างชัดเจน 2.2 กลุ่มที่มีจุดหมายปลายทางอย่างชัดเจน 2.3 กลุ่มที่มีความต้องการด้านวิชาชาชีพ

โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้แจกจ่ายแบบฟอร์มสำหรับผู้หลบหนีภัยแต่ละประเภท 3.สำหรับกลุ่มที่จะกลับไปตั้งถิ่นฐานในเมียนมาแน่นอน นั้นได้มีการกำหนดให้ใช้จุดผ่านแดนที่ใกล้พื้นที่พักพิงให้ได้มากที่สุด ได้แก่ จุดผ่านแดนแม่สอด-เมียวดี จ.ตาก และจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ทั้งนี้กต.เองได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนแก่ผู้หลบหนีภัยจำนวน 3.5 ล้านบาท

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เคยประกาศเป็นหนึ่งในนโยบาย ว่า ประเทศไทนพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศอื่น โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม ตามกติกาสากลที่ทุกประเทศต้องทำ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองต้องคำนึงถึงความพร้อมและความปลอดภัยของประเทศไทยด้วย ส่งผลให้สามารถดูแลได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีประเทศต้นทางมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น และผู้หลบหนีภัยเองมีความประสงค์จะกลับประเทศ ซึ่งต้องมีความปลอดภัย และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลไทยยินดีจะดำเนินการ” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว