‘สานไหม’ ดรีมทีม เนคเทคขยับบิ๊กดาต้า

‘สานไหม’ ดรีมทีม  เนคเทคขยับบิ๊กดาต้า

เนคเทคตั้ง “สานไหม” กลุ่มวิจัยขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์บิ๊กดาต้า-เอไอ นำร่องสำรวจและรวบรวมเพื่อจัดทำข้อมูลคนจน

เนคเทคตั้ง “สานไหม” กลุ่มวิจัยขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์บิ๊กดาต้า-เอไอ นำร่องสำรวจและรวบรวมเพื่อจัดทำข้อมูลคนจน ระบุกลุ่มธุรกิจธนาคาร โทรคมนาคมและรีเทล ตื่นตัวใช้บิ๊กดาต้าพัฒนาบริการและสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะบุคคลมากขึ้น

Agri-Map ผลงานตัวอย่างจากเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าของเนคเทค เป็นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการเกษตร เพื่อเกิดประโยชน์และความคุ้มค่ามากที่สุด ยกตัวอย่าง จ. กำแพงเพชร จากเดิมส่วนหนึ่งปลูกข้าวแต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ไม่เหมาะสมและคุ้มค่าเท่ากับการปลูกอ้อยและกล้วยไข่

ล่าสุดเป็นการทำระบบบริหารข้อมูลคนจนแบบชี้เป้า หรือ Thai Poverty Map and Analytics Platform :TPMAP ทำให้ระบุกลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ให้สามารถออกนโยบายและปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด

“นักวิทย์ข้อมูล” ฟันเฟืองหลัก

สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ นักวิจัยหน่วยวิจัยการวิเคราะห์ ข้อมูลและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมางานวิจัยบิ๊กดาต้ามีมาบ้างแล้ว แต่ติดปัญหาเทคโนโลยีไม่พร้อมเท่ากับปัจจุบัน ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เมื่อมีเทคโนโลยีพร้อมใช้มากขึ้นก็ได้เปิดทางให้บิ๊กดาต้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกวงการ

เนื่องจากข้อมูลมีความหลากหลาย ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่มีการจัดการมาทำให้เป็นข้อมูลที่พร้อมในการนำไปวิเคราะห์หรือใช้งานต่อ รวมทั้งต้องจัดการทั้งข้อมูลเก่าที่มีอยู่เดิม และคำนึงถึงข้อมูลใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคตเพื่อให้พร้อมสำหรับการไปใช้งาน โดยต้องใช้การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า (Data Analytics) เพื่อตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาต่างๆ

เนคเทคจึงได้ตั้งกลุ่มวิจัยขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ด้วยข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ Strategic Analytics Networks with Machine Learning and AI : SANMAI (สานไหม ) ภายใต้ Data Analytics and Computing Research Unit วัตถุประสงค์หลักมุ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศและองค์กรต่างๆ ซึ่งมีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เท่ากัน จึงต้องออกแบบแนวทางให้เหมาะสมโดยใช้บิ๊กดาต้าร่วมกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเป็นเครื่องมือทำการวิเคราะห์

สานไหมทำงานโดยอาศัยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของเนคเทค ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ในการตอบโจทย์การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าของประเทศ

สำหรับภาพรวมความก้าวหน้าของบิ๊กดาต้าในไทยนั้น ปัจจุบันเทคโนโลยีมีมากพร้อมใช้งาน มีผู้ให้บริการอยู่ หลายราย แต่ปัญหาของประเทศไทยคือยังมีองค์กรหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขาดบุคลากรทั้งในส่วนของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) และวิศวกรข้อมูล (Data Engineers) ซึ่งมีหน้าที่เตรียมข้อมูลให้พร้อมใช้งาน ซึ่งเป็นภารกิจกว่า 60% ของการทำวิเคราะห์บิ๊กดาต้าทั้งหมด

กสท เปิดสนามแซนด์บอกซ์

ในแง่ของการทำธุรกิจเทคโนโลยี บิ๊กดาต้าจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล แต่ต้องทราบ โจทย์ที่ชัดเจนว่าจะใช้บิ๊กดาต้าทำอะไร หรือนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นแนวทางที่จะนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การเข้าใจลูกค้าหรือความต้องการของลูกค้าจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อวางแผนการทำการตลาด ยกตัวอย่าง ห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศเก็บข้อมูลและให้คูปองส่วนลดที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะคน โดยดูจากข้อมูลพฤติกรรมการซื้อสินค้าในช่วงที่ผ่านมา

ในประเทศไทย 3 ธุรกิจที่ตื่นตัวกับการใช้บิ๊กดาต้า ได้แก่ ธนาคาร โทรคมนาคมและธุรกิจรีเทล ล้วนมีข้อมูลมหาศาล เช่น การทำธุรกรรม การเงิน ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ การจ่ายบิล พฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ข้อมูลเหล่านี้สามารถใช้สร้างมูลค่าได้หลายอย่าง เช่น การสร้างประสบการณ์ที่ดีทำให้เกิดความภักดีต่อสินค้าหรือบริการนั้นๆ ในระยะยาว ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐ ทางบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดให้บริการบิ๊กดาต้าแซนด์บอกซ์ให้กับหน่วยงานที่มีโจทย์และข้อมูลสำหรับทดลองใช้ Big Data Infrastructure

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งที่มีศักยภาพให้บริการช่วยเหลือเรื่องการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ แต่ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการควรยึดแผนธุรกิจกำหนดวัตถุประสงค์เป็นหลัก แล้วจึงค่อยมองการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าว่าจะมาช่วยได้อย่างไร