'สุเทพ' เมินคนเดินสายดูดสส.

'สุเทพ' เมินคนเดินสายดูดสส.

"สุเทพ" เมินคนเดินสายดูดสส. เชิญชวนประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกับพรรคมาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรค - นัดถก 5 ส.ค.นี้

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของพรรคว่าขณะนี้กำลังใช้ช่องทางทางโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชน เชิญชวนประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกับพรรคมาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรค ซึ่งตามกฎหมายต้องมี มากกว่า 500 คน ซึ่งขณะนี้ใกล้จะครบแล้ว และขั้นตอนต่อไปคือนัดประชุมสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ เพื่อเลือกกรรมบริหารพรรคชุดแรกและปฏิบัติตามที่กฏหมายกำหนด ก่อนเดินทางไปจดจัดตั้งพรรกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำให้สถานะของพรรค รปช.มีความเป็นพรรคการเมืองมากขึ้น และทันทีที่ปลดล็อคให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ตนเองจะเดินสายเชิญชวนประชาชนมาเป็นสมาชิกพรรคเพิ่มด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ กล่าวยืนยันว่า พรรค รปช. เป็นพรรคของประชาชน และหวังสร้างการเมืองที่ดี เป็นการเมืองของประชาชนโดยรวมพลังของ ประชาชนที่รักชาติรักแผ่นดิน สรรหาคนดีมาเป็นตัวแทนของพรรค ตลอดจนมีเป้าหมายสร้างนักการเมืองหน้าใหม่ ไม่ใช่หมายถึงอายุเพียงอย่างเดียวแต่หมายถึงความคิดทางการเมืองด้วย ดังนั้นใครจะเดินสายดูด ส.ส.ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ขณะเดียวกันพรรค รปช.พร้อมร่วมงานกับพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์เดียวกันอีกด้วย

ทั้งนี้นายสุเทพ ยังกล่าวถึงการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ว่า ขณะนี้กระบวนการสรรหายังไม่ครบถ้วน แต่ กกต. 5 คนก็จัดการเลือกตั้งได้ และเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย เพราะประชาชนจะไม่ยอมให้บ้านเมืองวุ่นวายและมีปัญหาอีกต่อไป เพราะทั้งหมดอยู่ในสายตาประชาชน

ส่วนการปลดล็อคคำสั่ง คสช.ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า พรรค รวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ไม่ได้อยู่พรรคในฐานะที่จะเรียกร้องอะไรได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลและ คสช.คำนึงระยะเวลาการเตรียมตัว การจัดตั้งสำนักงานและสาขาพรรค มีกระบวนการคัดเลือกตัวแทนลงเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตในรูปแบบไพรมารีโหวต ตลอดจนให้พรรคการเมืองมีเวลาในการหาเสียงและ และมีเวลาในการเตรียมความพร้อมทั้งหมดตามกฎหมาย ซึ่งพรรค รปช. ยืนยันในการส่งตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้งจะต้องผ่านการทำไพรมารี่โหวตก่อนเพราะเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศการเมือง