สแกน 5 หุ้น “ความงาม” ยังสวยอยู่ไหม !!? 

สแกน 5 หุ้น “ความงาม” ยังสวยอยู่ไหม !!? 

ภาวะฟองสบู่..กำลังส่งสัญญาณ ในหุ้น “กลุ่มความงาม” เรื่องจริง หรือ ตื่นตูม...!! หลังราคาหุ้นร่วง ผลประกอบการแตะเบรก แถมติดร่างแหกระแส“เมจิกสกิน-ลีน” หุ้นเครื่องสำอางยังสวยอยู่ไหม? ไปฟังคำแจกแจง...!!

ในขณะที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลดลง สอดคล้องไปทิศทางเดียวกับดัชนี SET INDEX ช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2561 ที่ปรับตัวลงจาก จุดสูงสุด”(New High) 1,838.96 จุด (24 ม.ค.61) มา จุดต่ำสุด 1,595.58 จุด (29 มิ.ย.61) หรือ ลดลงกว่า 243.38 จุด

ทว่า ในช่วง ขาลง ของตลาดฯ กลับยังมีหุ้นขนาดกลาง-เล็กหลายตัวราคาหุ้นร่วงลงมากกว่าตลาด จนทำให้ค่า PE (Price to Earning ratio) หรืออัตราส่วนระหว่างราคาของหุ้นและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท สูงเกินกว่าพื้นฐานที่แท้จริงไปมาก เสมือนเป็นลางบอกเหตุว่า ฟองสบู่ ของหุ้นเหล่านั้นกำลัง แตก  หรือไม่อย่างไร..?

โดยหนึ่งในหุ้นกลุ่มที่ราคาปรับตัวลงมากกว่า SET Index นั่นคือ หุ้นใน กลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง”...!!! หากพิจารณาจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง เช่น บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY ของ นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ , บมจ. อาร์เอส หรือ RS ของเฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ , บมจ. โอ ซี ซี หรือ OCC , บมจ. ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD , บมจ. คาร์มาร์ท หรือ KAMART เป็นต้น

ย้อนไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มเครื่องสำอางที่เคยมีผลประกอบการ โดดเด่น” ฐานธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำในขณะนั้น จึงสามารถขยายตลาดไปอีกมากแม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว ทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มเครื่องสำอางในช่วงที่ผ่านมา คึกคัก เฉกเช่น กระทิงหนุ่ม ที่ดึงดูดเงินนักลงทุนหน้าเก่า-ใหม่ เข้ามาแสวงหากำไรในหุ้นได้ไม่ขาดสาย ยิ่งเฉพาะหุ้น IPO (การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) ที่มีความ ฮอตฮิต แทบทุกตัว

ทว่า ปัจจุบันสารพัดข่าวลือและผลการดำเนินงานเติบโตน้อยลง กำลังเป็น ปัจจัยลบ เข้ามากดดันความสวยของกลุ่มนี้ บ่งชี้ผ่านราคาหุ้นความงามที่ปรับตัว ลดลง หากพิจารณาจาก 5 หุ้นในกลุ่มดังกล่าว เช่น หุ้น BEAUTY หุ้น DDD หุ้น KAMART หุ้น OCC และหุ้น RS ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับลงค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ตัวลดลงเฉลี่ย 63.46% 45.76% 34.92% +7.50% และ 43.06% ตามลำดับ

ขณะที่ ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap” ของ หุ้น BEAUTY หุ้น DDD หุ้น KAMART หุ้น OCC และหุ้น RS ลดลงหากเทียบกับต้นปี 2561 โดยมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 60,955.51 ล้านบาท , 30,020.00 ล้านบาท , 6,379.99 ล้านบาท , 960 ล้านบาท และ 28,031.69 ล้านบาท (ณ 3 ม.ค.61) ตามลำดับ ผ่านไปกว่า 6 เดือน มาร์เก็ตแคป" ลดลงเหลือ 22,836.79 ล้านบาท , 15,258.61 ล้านบาท , 4,206.39 ล้านบาท , 1,032.00 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น) และ 15,960.36 ล้านบาท (ณ 10 ก.ค.61) ตามลำดับ

ขณะที่ ปัจจุบันธุรกิจเครื่องสำอางกำลังมีประเด็นฮอตฮิตในกระแสสังคม ในกรณี คดีเมจิกสกิน-ลีน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในวงกว้าง ไม่เว้นแม้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สอดคล้องกับราคาหุ้นกลุ่มเครื่องสำอางที่ปรับตัวลดลงทั้งจากกระแสข่าวคดีเมจิกสกิน-ลีน , ช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจเริ่มแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการเข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่เข้าเป้าหมายของหลายนักวิเคราะห์ หรือนักลงทุนที่คาดหวังผลประกอบการ

ดังนั้นผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2561 ที่ประกาศออกมาหุ้นกลุ่มนี้จึงไม่โดดเด่น ดังหวัง ตอกย้ำให้เกิดความกังวลของนักลงทุนมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น...!!

โดยผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2558-2560) ของกลุ่มเครื่องสำอางพบว่า บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY มี กำไรสุทธิ อยู่ที่ 402.49 ล้านบาท 656.01 ล้านบาท 1,229.32 ล้านบาท และไตรมาส 1 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 282.41 ล้านบาท ขณะที่ รายได้ จำนวน 1,792.03 ล้านบาท 2,558.84 ล้านบาท 3,735 ล้านบาท และไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 904.94 ล้านบาท

บมจ.อาร์เอส หรือ RS มีกำไรสุทธิ 121.63 ล้านบาท ,-102.15 ล้านบาท 332.86 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 101.94 ล้านบาท ด้านรายได้อยู่ที่ 3,779.51 ล้านบาท 3,248.51 ล้านบาท 3,588.13 ล้านบาท ไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 976.33 ล้านบาท 

บมจ.โอ ซี ซี หรือ OCC มีกำไรสุทธิ 82.88 ล้านบาท 70.79 ล้านบาท 63.25 ล้านบาท และไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 140.35 ล้านบาท ด้านรายได้อยู่ที่ 1,455.45 ล้านบาท 1,417.50 ล้านบาท 1,404.71 ล้านบาท และไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 489 ล้านบาท

บมจ. ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD มีกำไรสุทธิ 193.90 ล้านบาท 335.20 ล้านบาท 351.06 ล้านบาท และไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 112.15 ล้านบาท ด้านรายได้อยู่ที่ 956.70 ล้านบาท 1,204.80 ล้านบาท 1,684.38 ล้านบาท และไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 386.66 ล้านบาท บมจ. คาร์มาร์ท หรือ KAMART มีกำไรสุทธิ 209.66 ล้านบาท 263.83 ล้านบาท 281.63 ล้านบาท ไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 71.52 ล้านบาท ด้านรายได้ 1,204.97 ล้านบาท 1,453.00 ล้านบาท 1,551.63 ล้านบาท และไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 378.87 ล้านบาท

สอดคล้องกับความเห็นของ โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า มีมุมมองในธุรกิจกลุ่มเครื่องสำอาง ว่าเริ่มมีภาวะฟองสบู่ สะท้อนจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามาก เนื่องจากที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมาก และมีค่า P/E ในระดับสูง รวมทั้งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจเครื่องสำอางจำนวนมาก ทำให้ตลาดแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจที่เคยมีมาร์จิน(กำไรต่อหน่วย) ระดับสูงๆ ตอนนี้มาร์จินอาจมีโอกาสลดลง

อดีตฐานธุรกิจยังต่ำ แต่ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดดมาตลอดหลายปี ดังนั้นจะหวังให้ธุรกิจเติบโตแบบเดิมคงยาก แต่ไม่ใช่ว่าธุรกิจจะไม่เติบโต แต่เป็นการเติบโตที่น้อยกว่าเดิม

ขณะที่นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY เชื่อมั่นว่า ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทในปี 2561 ยังมีกำไรและเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรอยู่ที่ 1,229 ล้านบาท สำหรับรายได้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน ตามกำลังซื้อที่จะมากขึ้น และในช่วงครึ่งปีหลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ซึ่งบริษัทเน้นการขยายยอดขายในทุกๆ ช่องทางการจำหน่าย และออกสินค้าใหม่เข้ามากระตุ้นตลาดเพิ่มเติม

แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 อาจจะไม่เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเป็นผลมาจากความนิยมของสินค้าแบรนด์ BEAUTY COTTAGE ลดลง ประกอบกับ เป็นช่วงโลซีซั่นของธุรกิจ ทว่าในเดือน ก.ค.นี้ บริษัทเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ คือ BEAUTY COTTAGE LUXURY เพื่อเป็นการกระตุ้นความนิยมและความต้องการของตลาด

ประกอบกับ บริษัทมองว่าแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางในช่วงครึ่งปีหลัง ยังสามารถเติบโตได้ เนื่องจากกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคยังมีอยู่ต่อเนื่อง รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น และยังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของแฟชั่นที่เกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เทรนด์ใหม่ ซึ่งถือเป็นการเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจและสินค้าของ BEAUTY

หมอสุวิน บอกด้วยว่า ในครึ่งปีหลังจะขยายสาขาของทุก Shop Brand ในประเทศ ทั้งในต่างจังหวัด หัวเมืองท่องเที่ยว และในกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้น ยังจะพัฒนาสินค้าและขยายช่องทางการจำหน่ายเข้าสู่ตลาดคอนซูเมอร์ที่เป็น Mass Market (ตลาดทั่วไป) เพิ่มขึ้น อีกทั้งบริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับเซเว่นอีเลฟเว่น และปรับขนาดสินค้าเพื่อให้เหมาะสมกับการวางจำหน่ายในเซเว่นฯกว่า 1 หมื่นสาขาภายในปีนี้

ปัจจุบัน BEAUTY มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 348 สาขา แบ่งเป็น BEAUTY BUFFET 265 สาขา BEAUTY COTTAGE 75 สาขา BEAUTY MARKET 8 สาขา อีกทั้งยังมีจุดขาย ณ คิง พาวเวอร์ 8 สาขา 22 จุดจำหน่าย วางจำหน่ายสินค้าผ่าน 7-11 จำนวน 650 สาขา และ Boots 145 สาขา

สำหรับ ตลาดต่างประเทศ ยังมุ่งเน้นช่องทางขายรูปแบบใหม่ Cross-border E-commerce หรือ การขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ได้รุกขยายไปในจีนแล้ว ปัจจุบัน BEAUTY มีช่องทางจำหน่ายในอีคอมเมิร์ซทั้ง 5 เว็บไซต์สำคัญของจีน ได้แก่ TMALL, KAOLA, VIP, YUNJI และ JD ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซใหญ่อันดับต้น ๆ ของจีน 

โดยบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายสำหรับ 5 แพลตฟอร์มไว้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้

นอกจากนี้ยังขยายตลาดเชิงรุกในต่างประเทศมากขึ้น โดยเน้นการสร้าง “Shop License” และ “Product Distributor” ในกลุ่มประเทศ AEC ซึ่งรูปแบบการขายสินค้าจะเป็นช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงง่ายทั้ง Offline Retailer และ Online Retailer ที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศ อีกทั้งได้มีตัวแทนจำหน่ายใน 9 ประเทศเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว คือ 

ในรูปแบบ Independent Shop จำนวน 17 สาขา ที่ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รูปแบบ Counter sale จำนวน 10 จุดจำหน่ายที่ลาวและเมียนมา และรูปแบบ Shop in Shop จำนวน 131 จุดจำหน่าย คือ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ในไตรมาส 3 ยังมีแผนจะเซ็นสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายใน 3 ประเทศ คือตะวันออกกลาง สิงคโปร์ และกัมพูชา โดยจะจัดประชุม Annual Meeting ตัวแทนจำหน่ายพร้อมกันทั้ง 11 ประเทศเพื่อวางแผนขยายตลาดสู่ความเป็นรีจินอลแบรนด์ (Regional Brand)

ข่าวลือที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นผลกระทบต่อราคาหุ้น แต่เราก็ได้แก้ข่าวลือไปแล้ว ซึ่งเราก็ยังยืนยันศักยภาพการเติบโตของบริษัท เรายังมีช่องทางการขายที่หลากหลาย และแบรนด์เป็นที่ยอมรับ คงจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดในระยะสั้นได้"

ด้านปิยวัชร ราชพลสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน บมจ.ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD เปิดเผยว่า ในปี 2561 บริษัทคาดว่าจะเติบโต 30% จากในปี 2560 โดยหนึ่งในปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และปรับเปลี่ยนขนาดของบรรจุภัณฑ์เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และเป็นการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

แม้ในไตรมาส 2 ยอดขายในต่างประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะในจีน เนื่องจากบริษัทได้ปรับโครงสร้างการส่งออกเพื่อทำตลาด mainstream online และ offline หลังจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับอย. (มาตรฐานอาหารและยา)  จากทางการจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องปรับแพ็กเกจสินค้าให้ตรงตามข้อบังคับของประเทศจีน ส่งผลให้ต้องเสียเวลาขายสินค้าเป็นเวลา 2 เดือน บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ไว้ตามเดิม

นอกจากนี้ ผู้กระจายสินค้าในประเทศจีน ปัจจุบันอาจไม่ถนัดในด้านการกระจายสินค้าให้แก่ผู้ค้าส่ง (Wholesale) ทำให้บริษัทไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก อย.จีน ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการเปลี่ยนถ่ายจากระบบการขายร้านค้าแบบดั้งเดิมทำได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้การร่วมมือกับ ซิโน-แปซิฟิค ผู้กระจายสินค้าในประเทศของบริษัท ยังไม่สามารถเข้าถึงภูมิภาคที่สำคัญได้ อย่าง ภาคอีสาน

แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดภายในประเทศ การกระจายสินค้าในร้านค้า โดยผลิตภัณฑ์รูปแบบซอง (Sachet) ในร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ และการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้า King Power ยังมียอดขายเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ Snail White ยังเป็นที่นิยมของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก Market Share ของบริษัทที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันอยู่ลำดับที่ 6 จากทุกช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศไทย

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้รับ อย.จีนเพิ่มในสินค้า Snail White Syn-Ake Mist ทำให้มีโอกาสขยายตลาดได้เพิ่มเติมอีก โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มเติมอีก เพื่อขยายฐานลูกค้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลัง หรือในไตรมาส 4 ปีนี้

ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้ารายได้โตเฉลี่ยปีละ 30% ในช่วง 3-5 ปี (ปี 2561-65) ตามการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในประเทศบริษัทจะขยายช่องทางการขายออนไลน์ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเพิ่มจุดขายของแบรนด์บริษัทเองให้เป็น 15 จุด จากปี 2561 ที่จะขยายให้ครบ 4-5 จุด

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทตระหนักถึงความท้าท้ายต่างๆ ในการรักษาการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งได้วางแผนรับมือและแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ๆ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้า รวมทั้งการทำการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยว เพื่อคว้าโอกาสจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบซอง (Sachet) เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและช่วยในการบุกตลาดร้านค้าแบบดั้งเดิม การเพิ่มผู้กระจายสินค้าที่มีความถนัดในการขายแบบค้าส่ง (Wholesale) ในประเทศจีน เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การจำหน่ายสินค้ามากขึ้น และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปประเทศจีน โดยการเปิดตลาดในประเทศใหม่ ๆ ในเอเชีย

-----------------------------------

โบรกมองแข่งเดือดฉุดความสวย” 

บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า มองว่า การแข่งขัน ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางความสวยงามค่อนข้างสูง ผู้บริโภคมีตัวเลือกค่อนข้างมาก ทั้งเครื่องสำอาง สีสัน รูปแบบ คุณภาพสินค้า ที่ทุกแบรนด์พัฒนาแข่งกัน โดยมองว่ากลุ่มสินค้าเป็นตลาดแฟชั่น Brand Loyalty ยังไม่สูงนัก ต้องปรับตัวหาสินค้าเรือธงให้เร็ว ซึ่งผลการดำเนินงานจึงเป็น seasonal ขึ้นอยู่กับความนิยมกระแสของสินค้าบางตัวสูงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ขณะที่กลุ่มความงาม ยังได้รับผลกระทบจากสินค้าปลอม ซึ่งน่าจะกระทบต่อผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2 ปี 2561 โดยผู้บริหาร BEAUTY ที่ออกมายอมรับถึงยอดขายในไตรมาส 2/61 จะต่ำกว่าเป้าหมาย ฉุดราคาหุ้นร่วงแรงต่อเนื่อง

ด้าน RS ที่หันเหมาจับธุรกิจสุขภาพความงามและพาณิชย์ (Multiple-Platform Commerce - MPC) โดยมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2560 แม้คาดกำไรไตรมาส 2/61 ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ด้วยกระแสเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมปลอม และเพื่อยึดหลักอนุรักษ์นิยม

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างทบทวน “ปรับลดประมาณการ” และ “มูลค่าซื้อขายสมเหมาะลง” ส่วน DDD ได้รับ sentiment เชิงลบนี้ไปเช่นกัน โดย DDD มีสัดส่วนสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ 20% ของรายได้รวม (เกือบทั้งหมดคือจีน) ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบสูงขึ้นในอนาคตจาก สงครามการค้าสหรัฐ–จีน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง อาจไปได้แค่ระยะสั้น จากการที่ผู้ประกอบการต่างๆ ก็กระโดดเข้ามาเบียดตลาดกันเองในอุตสาหกรรม และมีโอกาสที่อุตสาหกรรมนี้จะเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ROA (Return on Asset) หรือ ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หุ้นความสวยความงามถือว่าสูงมาก อย่าง RS โดดเข้ามาธุรกิจนี้ จนสามารถพลิกทำกำไรแทนที่ธุรกิจหลักที่เป็นเทปเพลง, สำหรับ BEAUTY ปีนี้และปีหน้า ยังมีโอกาสเติบโตไม่น้อยกว่า 30% ขณะที่ DDD ผู้ผลิตแบรนด์ Snail White ผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของสารสกัดจากเมือกหอยทาก แม้จะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำตามกันได้