0-89 รหัส(ไม่)ลับสู่สัญชาติไทยของ 4 หมูป่า

0-89 รหัส(ไม่)ลับสู่สัญชาติไทยของ 4 หมูป่า

การเกิดในประเทศไทยของหมูป่าไร้สัญชาติทั้งสี่คนเป็นข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักดินแดนโดยการเกิด เพียงแต่คนทั้งสี่คนต้องพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยให้ได้

หลังจากมีการเปิดประเด็นเรื่องปัญหาสัญชาติของสมาชิกในทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 4 คน จนนำไปสู่การตรวจสอบสถานะทางทะเบียนราษฎร์และพบว่ายังมีอีกหลายชีวิตในทีมหมูป่าที่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการด้านกฎหมายออกมาให้ความเห็น รวมทั้งเสนอแนวทางที่ควรจะเป็นในการรับรองสัญชาติไทยให้กับคนกลุ่มนี้ตามข้อเท็จจริงและเงื่อนไขในกฎหมาย

โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกมายืนยันว่า “ในทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวงฯมีเด็ก 3 คน โค้ช 1 คน มีสถานะเป็นกลุ่ม Stateless คือคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็ก 3 คนมีแต่หลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งได้รับการสำรวจตามมติครม. เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทย แต่มีสถานะไม่ชัดเจน”

พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้เรารู้แล้วว่าพ่อแม่ของเขาไม่ใช่คนสัญชาติไทย การที่เขาจะได้สัญชาติจากสายโลหิตที่พ่อหรือแม่เป็นคนไทยมันก็จบแล้ว เหลืออีกหลักเดียวคือหลักดินแดน เด็กเป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทยหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มาจากการสำรวจ พบว่าเด็ก 3 คนนี้เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้แจ้งการเกิด จึงไม่มีสูติบัตร ไม่มีใบเกิด ผู้ปกครองต้องมาพิสูจน์ว่าลูกของเขาเกิดในประเทศไทย ถ้าไม่มีเอกสารก็ต้องมีพยานรู้เห็น พยานบุคคลละแวกใกล้เคียงที่เด็ก 3 คนนี้เกิดมารับรอง นายทะเบียนถึงจะกล้าออกหนังสือรับรองให้

พอมีหนังสือรับรองว่าเกิดในราชอาณาจักรแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการพิจารณาต่อว่าเด็กจะได้สัญชาติโดยหลักดินแดนไหม มันมีขั้นตอนของมัน ไม่ใช่เรื่องพิเศษหรือเร่งรัดอะไรนะ นี่คือขั้นตอนปกติ เด็กทุกคนที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกับเด็ก 3 คนนี้ ก็จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน”

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าสมาชิกในทีมหมูป่าอะคาเดมีซึ่งมีกว่า 50  คน ไม่ได้มีแค่ 4 คนตามที่เป็นข่าวเท่านั้น หากแต่มีถึง 10 คน ที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติ

นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บอกว่าการได้สัญชาติไทยมี 2 หลักการ ได้แก่ หลักดินแดน คือเกิดในประเทศไทย และหลักสายเลือด คือมีพ่อแม่เป็นคนไทย ซึ่งจากการตรวจสอบหมูป่าทั้ง 4 คนที่เป็นข่าว คือ เอกพล จันทะวงษ์, พรชัย คำหลวง, ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม และ ด.ช.อดุลย์ สามออน พบว่า

“น้องสองคนเกิดในเขตเทศบาลเวียงพางคำ น้องอีกคนเกิดในเขตเทศบาลแม่สาย ส่วนโค้ชเอกเกิดที่เทศบาลเวียงพางคำ บางคนยังไม่ได้ไปติดต่อที่เทศบาล เจ้าหน้าที่บอกไปแล้วว่าต้องเตรียมเอกสาร แต่ยังได้มาไม่ครบ”

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเกิดในประเทศไทยของหมูป่าไร้สัญชาติทั้งสี่คนน่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด เพียงแต่คนทั้งสี่คนต้องพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยให้ได้

ที่สำคัญคือ หมูป่าทั้งสี่คนถือบัตร 0-89 ถือว่าอาศัยอยู่ในไทยมานานแล้วจึงถือสิทธิเสมือนคนไทย ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแบบได้เปล่าหรือ ‘ท.99’ ทั้งยังมีเสรีภาพที่จะเดินทางภายในจังหวัดเชียงราย ออกจากอําเภอแม่สายโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่หากเป็นการออกนอกจังหวัดเชียงรายหรือออกนอกประเทศไทยจะต้องขออนุญาตก่อน

สำหรับสิทธิการศึกษา อ.พันธุ์ทิพย์ ยืนยันว่า คนถือที่ถือบัตร 0-89 มีเสรีภาพที่จะศึกษาอย่างไม่มีข้อจํากัด เพียงแต่ไม่มีสิทธิกู้เงินจาก กยศ. และเมื่อจบการศึกษาจะมีสิทธิทํางานได้เสมือนคนไทย ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2559

“จะเห็นว่าความยากลําบากของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยในวันนี้ลดลงจากในอดีตมากมาย แต่อย่างไรก็ตามมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติจํานวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้เพราะความไม่รู้กฎหมายและนโยบาย หรืออาจเป็นเพราะอคติและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐในบางพื้นที่ หรือบางช่วงเวลา”

ทั้งนี้ บัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งเป็นบัตรที่กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดชายแดนถืออยู่เป็นจำนวนมาก มีชื่อทางการว่า ‘บัตรประจําตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ โดยมีที่มาจากการที่คนเหล่านี้ประสบปัญหาไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร์ พวกเขาไม่เคยได้รับการรับรองจากรัฐใดในโลก แต่เมื่ออาศัยอยู่ในประเทศไทย รัฐไทยจึงต้องบันทึกในทะเบียนราษฎร์เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่พวกเขา คนเหล่านี้จึงแปรเปลี่ยนจาก ‘คนไร้สถานะทางทะเบียน’ เป็น ‘คนที่มีสถานะทางทะเบียน’

“อย่างไรก็ตาม ดูตลกดีที่กรมการปกครองไทยยังเรียกพวกเขาว่า ‘บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ ก็เลยถูกเข้าใจผิดว่ารัฐไทยไม่ยอมรับเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล ทั้งที่คนดังกล่าวได้รับการรับรองสิทธิและสถานะของมนุษย์ ซึ่งเป็นราษฎรของรัฐไทย แต่อาจมีเงื่อนไขอันเนื่องมาจากความเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย เราจะเห็นว่าน้องหมูป่า โค้ชเอกหรือแม้แต่น้องหม่อง ทองดี ซึ่งเป็นที่รักของคนไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ทุกคนถือบัตรเลข 0 ต่างก็เรียนหนังสือในประเทศไทยโดยงบประมาณค่าหัวการศึกษาจากกระทรวงการคลังไทย และได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานดังมนุษย์ทุกคนพึงมี”

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงไม่เพียงให้บทเรียนเรื่องการกู้ภัย แต่ยังช่วยให้สังคมได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสัญชาติมากยิ่งขึ้น และช่วยกันสนับสนุนให้คนที่ยังประสบปัญหาสามารถเข้าถึงสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง

“หากเราสร้างความเชื่อของสังคมในมนุษยนิยมด้านสัญชาติได้สําเร็จ การขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่คนที่กลมกลืนแล้วกับสังคมไทยก็จะทําได้เร็วขึ้น เพราะอุปสรรคของงานนี้มาจากอคติมากที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ กล่าวทิ้งท้าย ก่อนจะสรุปความเป็นไปได้ตามข้อเท็จจริงทางกฎหมายเกี่ยวกับกรณีของหมูป่าทั้ง 4 ชีวิตว่า

“แม้ข้อเท็จจริงของชาวหมูป่าไร้สัญชาติทั้งสี่คนจะไม่ชัดเจนมากนัก แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ชัดเจนว่า ทั้งสี่คนถือบัตรเลข ๐ อันแสดงว่า ทั้งสี่คนเป็นคนไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎร์ของรัฐไทย และเกิดในประเทศไทย อ.แหววจึงขอสรุปว่า มีความเป็นไปได้ที่จะรับรองสัญชาติไทยให้แก่ชาวหมูป่าทั้งสี่คน เพียงแต่จะเป็นไปในรูปแบบไหน ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 7 ทวิวรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.2508 ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551”