คำสั่งซื้อเก็งกำไรหนุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น

คำสั่งซื้อเก็งกำไรหนุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดตลาดวันศุกร์ (13ก.ค.) ปรับตัวขึ้นจากคำสั่งซื้อเก็งกำไร แต่มีแนวโน้มร่วงลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 จากการที่ลิเบียกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง และการคาดการณ์ว่าอิหร่านยังคงส่งออกน้ำมันได้ แม้เผชิญกับการคว่ำบาตรจากสหรัฐ

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนส.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดไนเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 68 เซนต์ หรือ 1%  ปิดตลาดที่ 71.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้น 1.11 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดตลาดที่ราคา 75.56 ดอลลาร์/บาร์เรล

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย เปิดเผยว่า มีการเปิดสถานีส่งออกน้ำมัน 4 แห่ง หลังจากที่ได้ถูกปิดไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้มีการส่งออกน้ำมันราว 850,000 บาร์เรล/วันเข้าสู่ตลาด

ด้านนายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐจะผ่อนคลายให้บางประเทศยังคงสามารถซื้อน้ำมันจากอิหร่านต่อไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ขู่ว่า สหรัฐจะคว่ำบาตรประเทศที่ซื้อน้ำมันอิหร่านภายหลังจากวันที่ 4 พ.ย.

ขณะที่รายงานจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ระบุว่า ซาอุดิอาระเบีย ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันราว 500,000 บาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2559 เพื่อสกัดราคาน้ำมันดิบที่ได้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันราว 10.5 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับราว 10 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ค.ส่วนกลุ่มประเทศโอเปกผลิตน้ำมันราว 32.2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 173,000 บาร์เรล/วันเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.

ขณะเดียวกัน โอเปก คาดว่าการผลิตน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า นำโดยการผลิตน้ำมันจากสหรัฐ

ด้านสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ออกรายงานระบุว่า การที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทำการเพิ่มการผลิตเพื่อให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง อาจส่งผลให้กำลังการผลิตส่วนเกินในตลาดลดน้อยลง

ทั้งนี้ หากกำลังการผลิตส่วนเกินในตลาดอยู่ในระดับสูง ก็จะช่วยลดผลกระทบหากเกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาด แต่กำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการผลิตน้ำมันประสบภาวะชะงักงันในเวเนซุเอลา ลิเบีย และแคนาดา