วธ.รุกเปิดอบรมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม สร้างรายได้ให้ชุมชน

วธ.รุกเปิดอบรมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม สร้างรายได้ให้ชุมชน

วธ.รุกเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย สร้างรายได้ให้ชุมชน

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.30 น. นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม ของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ประจำปี พ.ศ. 2561 ณ โรงแรมแจ๊สโซเทล กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหาร ผู้ประกอบการในภาคประชาชนและนักวิชาการวัฒนธรรมที่ปฏิบัติงานในสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วม


​ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนามิติด้านวัฒนธรรม โดยการนำทรัพยากรทางวัฒนธรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้นำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม โดยการนำทรัพยากรหรือทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบใหม่ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศชาติ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย นักวิชาการวัฒนธรรมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดและผู้ประกอบการจากชุมชนคุณธรรมจาก 37 จังหวัด โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีผลงานเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ มาให้ความรู้

ปลัด วธ. กล่าวต่อไปว่า การจัดโครงการอบรมครั้งนี้ จะสร้างความรู้ ความเข้าใจและส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และบริการ อันเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและระดับชาติ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ของ วธ. ให้กับผู้ประกอบการและนักวิชาการวัฒนธรรมที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้มีความพร้อมในการนำไปผลิตจริง มีมาตรฐาน ตรงตามหลักเกณฑ์และสามารถนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติชาติได้อย่างน้อยรายละ ๑ รายการ สามารถนำมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการ งานแสดงสินค้าและผลิตเพิ่มเพื่อจำหน่ายในระดับชาติและนานาชาติ และยังเป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจ ในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน​