กะเทาะเปลือก ‘กลยุทธ์ ดิจิทัล’ สร้างแต้มต่อธุรกิจยุค 4.0

กะเทาะเปลือก ‘กลยุทธ์ ดิจิทัล’ สร้างแต้มต่อธุรกิจยุค 4.0

การพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน จะเกิดขึ้นได้ยากหากไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาครัฐและธุรกิจ

เวทีเสวนา “Thailand Competitiveness Conference 2018” จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(ทีเอ็มเอ) พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ปาถกฐาพิเศษหัวข้อ “Realizing Digital Thailand” โดยเปิดมุมมองว่า การนำเทคโนโลยีเอไอ บิ๊กดาต้า คลาวด์ บล็อกเชน ไปปรับใช้ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป ขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของแต่ละองค์กรต่างตระหนักรู้ ทั้งพบว่ามีการพัฒนาด้านดิจิทัลกันอย่างทวีคูณ โดยคำว่า “ดิสรัปชั่น” กลายเป็นเดอะนิวนอร์มอลไปแล้ว

“ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ ซึ่งใครสามารถเฟ้นหาไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาบิสสิเนสโมเดลใหม่ๆ จับมือกับคู่ค้าใหม่ๆ ได้นั่นคือผู้ชนะ”

จากการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกกว่า 1.28 หมื่นคน ใน 112 ประเทศ 21 อุตสาหกรรม ต่างไม่รู้สึกกลัว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล ขณะนี้การมาของฟินเทค สตาร์ทอัพ ดิจิทัลดิสรัปชั่น กลายเป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัว ทั้งในความเป็นจริงข้อมูลกว่า 80% ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบการแข่งขันยังคงอยู่กับองค์กร บุคลากร ไม่อาจเสิร์ชได้จากอินเทอร์เน็ต

"ฟินเทคไม่ใช่คู่แข่งอีกต่อไป แต่ที่น่ากลัวคือผู้ให้บริการโทรคมนาคม เนื่องจากมีความพร้อมหลายด้านทั้งเทคโนโลยี ฐานลูกค้า และข้อมูลในมือ เมื่อมองย้อนกลับไปในไทยที่มีพัฒนาการที่น่าภูมิใจคือ “บล็อกเชน” ซึ่งกำลังเข้ามาทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมการเงิน มีการจัดทำกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ"

รัฐ-เอกชนตื่นตัว

เอ็มดีไอบีเอ็มชี้ว่า ปีนี้จะได้เห็นการพัฒนา “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เพื่อนำไปสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ และที่จะเป็นเรื่องปกติคือ การฝังตัวระบบอัจฉริยะเช่นบิ๊กดาต้า เอไอ ไอโอที คลาวด์ และโมบายเข้าสู่ระบบและกระบวนการทางธุรกิจ

“ประเทศไทยเริ่มมีการขับเคลื่อนทางดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ระดับนโยบายของภาครัฐ องค์กรเอกชนเองมีการตื่นตัวอย่างมากไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงาน การเงิน เฮลธ์แคร์ ไปจนถึงระดับเอสเอ็มอี”

นอกจากนี้ มีการใช้เทคโนโลยีค็อกนิทิฟอย่างแพร่หลาย โดยเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมากคือไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เข้าใจว่าคงไม่ใช่เรื่องที่เซ็กซี่ทว่าละเลยไม่ได้ สุดท้ายคงคำถามว่า แล้วจะวางกลยุทธ์ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการบวนการทำงานภายในองค์กรได้อย่างไร ประเด็นนี้ไม่ต้องกลัวเมื่อเห็นตัวอย่างระดับโลกทำได้ดีแล้วคิดไปว่าคงทำไม่ได้เท่า ขอให้มองเพียงเรื่องการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาแก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่หรือเปลี่ยนโลกก็ได้

“เป็นเรื่องที่ไม่ยากและไม่ง่าย และไม่ใช่เพียงความเข้าใจทางเทคโนโลยี สิ่งสำคัญคือการหาวิธีการทำให้คนในองค์กรยอมเปลี่ยนและเป็นเสมือนเซ็นเซอร์เก็บข้อมูล ต้องให้ความสำคัญกับพนักงานทุกระดับ หลายเสียงมักบ่นว่าไม่มีคนทำงานทางนี้ให้ได้ ทางแก้คือหาคนใหม่มาเสริม ควบคู่ไปกับพัฒนาทักษะบุคคลากรเดิม”

ใช้ข้อมูล-เอไอสร้างจุดต่าง

ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องมองว่าดิจิทัลจะเข้ามาสร้างผลกระทบกับธุรกิจได้อย่างไร หลักๆ ที่พูดกันเช่น สร้างธุรกิจใหม่ เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ยกระดับศักยภาพ รวมถึงเพิ่มความสามารถการบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างคล่องตัว

ด้านปัญหาและอุปสรรค การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นปัญหาน้อยลง ที่ต้องเผชิญคือ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องทำให้เป็นดีเอ็นเอ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ง่ายเนื่องจากธุรกิจที่เกิดมากับโครงสร้างแบบใหม่มีอยู่น้อยมากหลัก 10% ที่เหลือยังเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิมอยู่

ด้าน ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(สพร.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญคือข้อมูล เป็นยุคที่ข้อมูลถูกสร้างจากหลากหลายรูปแบบ ในมุมภาครัฐมองถึงว่าจะบริหารจัดการ นำมาให้เกิดประโยชน์อย่างไร แนวทางคือการบูรณาการข้อมูล ผลักดันการพัฒนาบริการประชาชนบนดิจิทัลที่ตรงกับความต้องการจริง ขณะเดียวกันลดขั้นตอน เอื้อให้การทำธุรกิจของภาคเอกชนคล่องตัวมากขึ้น

สุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ(BIIC) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า แค่วางแผนล่วงหน้า 5 ปีน้อยไป ควรจะ 10 ปีขึ้นไป เช่นบริษัทเริ่มโฟกัสเรื่องพลังงานแห่งอนาคต คอนเน็คเต็ดคาร์ และแน่นอนว่ารถยนต์ไฟฟ้าต้องมาแน่นอน ทั้งมีการปรับใช้ไอโอที บิ๊กดาต้า และเอไอ

“หากต้องการสร้างข้อได้เปรียบการแข่งขันจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเอไอ ซึ่งอนาคตจะมีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการ รวมไปถึงการทำงานร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อช่วยเสริมช่องว่างที่เกี่ยวข้อง”

กำพล ศรธนะรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ภูมิทัศน์ธุรกิจเปลี่ยนไปในหลายมิติ ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยดิจิทัล ดังนั้นมุมของการกำกับดูแลทุกๆ หน่วยงานมีความจำเป็นต้องทบทวนตนเองเพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้อง มีความอัตโนมัติให้ได้มากที่สุด สำคัญกฏกติกาต้องไม่เป็นอุปสรรคกับภาคธุรกิจ มายเซ็ตต้องเป็นดิจิทัลจริงๆ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงความท้าทายที่ไม่พึงปรารถนา หรือไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ก็ตาม