'พริมา มารีน' ปรับทัพสู้ หันรุกตลาดในประเทศ

'พริมา มารีน' ปรับทัพสู้ หันรุกตลาดในประเทศ

ใช้เวลา 4 เดือนจบดีลซื้อกิจการ Big Sea 'ชาญวิทย์ อนัคกุล' ซีอีโอ 'บมจ. พริมา มารีน' ฉายภาพ 'จิ๊กซอว์ใหม่' เสริมตลาดขนส่งน้ำมันในประเทศเติบโตก้าวกระโดด หลังดีมานด์ขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก รับอานิสงส์ท่องเที่ยวโต...!

แหล่งสร้าง 'กำไร' นอกบ้านไม่ทำเงิน...!! สะท้อนผ่าน 'อุตสาหกรรมเรือขนส่งทางทะเล' ไม่สดใส หลังลูกค้าและเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว จำเป็นต้องปรับ 'กลยุทธ์ธุรกิจใหม่' ด้วยการหันมาเน้นชอปปิงในประเทศ น่าจะช่วยผลักดันฐานะการเงินได้ดีกว่านั่งรอการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือในต่างแดนที่คาดว่าฟื้นตัวเช่นในอดีตในอีก 2 ปี (2561-2563)

แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว สอดคล้องกับตัวเลข 'ภาคส่งออก' ของเมืองไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกไทย ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 11.4% เทียบปีก่อน นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น  

'ชาญวิทย์ อนัคกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พริมา มารีน หรือ PRM บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า บริษัทปรับธุรกิจตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังมองธุรกิจขนส่งเรือในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน แต่พบว่าธุรกิจเรือขนส่งขนาดเล็กในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง...!!!  

สะท้อนผ่านปริมาณความต้องการ (ดีมานด์) น้ำมันในภาคใต้ขยายตัวระดับสูง โดยในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ความต้องการขยายตัว 'กว่า 10%' เทียบกับช่วงที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวอยู่แค่ 'ระดับ 4%' สืบเนื่องจากความต้องการปริมาณน้ำมันเพิ่มจำนวนมากของลูกค้ารายใหญ่ อย่าง บมจ.ปตท. หรือ PTT ที่ปัจจุบันมีการขยายคลังน้ำมันเพิ่มเป็น 150 ล้านลิตรต่อปี จากเดิม 90 ล้านลิตรต่อปี และมีแนวโน้มที่ ปตท. จะขยายคลังน้ำมันเพิ่มเป็น 200 ล้านลิตรต่อปี หลังความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ภาคใต้สูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตสูงมาก 

สำหรับ กลุ่มลูกค้าของบริษัท เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท เชลล์(ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

'อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวจะเข้ามาช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2561 ของ PRM ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ'  

ฉะนั้น เมื่อตลาดขนส่งน้ำมันทางเรือขนาดเล็กในประเทศมีอัตราการเติบโตสูง จึงเป็น 'โอกาสทอง' ในการสร้างรายได้ ดังนั้น เมื่อประมาณ 4 เดือนก่อน จึงเกิดดีลลงนามสัญญาเข้า 'ซื้อหุ้น' ของ 'บริษัท บิ๊ก ซี จำกัด หรือ Big Sea' ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปทางทะเลรายใหญ่ภายในประเทศ ในช่วงที่ 1 จำนวน 252,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 70% ด้วยมูลค่า 1,400 ล้านบาท 

'ส่งผลให้ในไตรมาส 3/61 จะรับรู้รายได้และกำไรจากการดำเนินงานของ Big Sea ทันที ซึ่งส่งผลดีต่อการผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังของบริษัทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด'

ส่วนช่วงที่ 2 PRM จะทยอยเข้าซื้อหุ้น Big Sea ส่วนที่เหลืออีก 108,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของหุ้นทั้งหมด จาก ทีดับบลิวเอทีที ลิมิเต็ด (TWATT Limited) โดยจะทยอยเข้าซื้อหุ้น 10% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการทยอยซื้อหุ้นช่วงที่ 2 จะพิจารณาจากผลการดำเนินงาน Big Sea เป็นสำคัญ โดยจากการประเมิน ณ ปัจจุบันคาดว่าการซื้อขายหุ้นช่วงที่ 2 จะแล้วเสร็จภายในปี 2564 ซึ่งคาดการณ์จะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 800 ล้านบาท เป็นผลให้การเข้าซื้อหุ้น Big Sea ทั้ง 2 ช่วงดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 -2,300 ล้านบาท และให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) เฉลี่ยอยู่ที่ 11.7%

การซื้อหุ้นครานี้ เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ PRM ในกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือขนาดเล็กภายในประเทศให้มีความแข็งแกร่งในด้านจำนวนเรือที่เพิ่มขึ้นเป็น 'เท่าตัว' ซึ่งจะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดการขนส่งภายในประเทศเป็น 'อันดับ 1' โดยคิดเป็น 49% จากเดิม 32% ของส่วนแบ่งการขนส่งตลาดในประเทศทั้งหมด 

โดยมีความสามารถในการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ปริมาณการขนส่งของ เชฟร่อน จากเดิม 15% เพิ่มเป็น 43% เชลล์ จากเดิม 19% เพิ่มเป็น 64% บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) จากเดิม 19%  เพิ่มเป็น 52% และยังขยายฐานลูกค้าใหม่ คือ บมจ. บางจาก (BCP) คิดเป็นสัดส่วน 37% ของปริมาณน้ำมันที่ขนส่งทางเรืออีกด้วย 

สำหรับการขยายตลาดในธุรกิจเรือขนาดเล็กด้วยการทำ M&A กับ Big Sea ถือเป็นการเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' บ่งชี้ผ่าน ข้อ 1. การที่ Big Sea มีจำนวนเรือ 14 ลำ เป็นเรือขนาด 2,000-5,000 ตัน  รวมทั้งมีบุคลากรภายในเรือมาพร้อมทั้งหมด ซึ่งหากมาสร้างบุคลากรเองต้องใช้เวลาสร้างไม่ต่ำกว่า 10 ปี ข้อ 2. สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที และ ข้อ 3. ได้ตลาดและฐานลูกค้าใหม่ๆ มาด้วย โดยลูกค้าจะเป็น เซฟรอน , เชลล์ และบางจาก เป็นต้น  

ขณะที่ บริษัทมีคำสั่งต่อเรือลำใหม่ด้วย ซึ่งเป็นเรือขนาดเล็ก 3,000 ตัน ประกอบกับเป็นเรือที่สามารขนส่งน้ำมันได้ปริมาณมากขึ้นเป็น 3 ล้านลิตร จากเดิม 1.5 ล้านลิต โดยปัจจุบันบริษัทเริ่มทยอยรับเรือมาแล้ว 4 ลำ

ขณะที่ 'ตลาดต่างประเทศ' ต้องใช้เรือขนาดใหญ่ 100,000 ตันขึ้นไป ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่าง 'การหยุดและรอดูสถานการณ์' (Wait & See) ของตลาดต่างประเทศก่อน เพราะภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นตลาดที่ทำให้ก่อให้เกิดกำไรน้อยมาก เนื่องจากธุรกิจต้องเป็นไปตามซีซั่น รวมทั้งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในและต่างประเทศด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในการให้บริการเรือขนส่งขนาดใหญ่ บริษัทได้มีการปรับสัญญาเช่าเรือที่เป็นการขนส่งรายเที่ยว (Spot) มาเป็นสัญญาระยะยาวและลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง (Time Charter) เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนพลังงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนน้ำมันของเรือขนส่งขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น

'การซื้อหุ้นบิ๊กซีเข้ามาเป็นการขยายตลาดในประเทศที่ทำไร ขณะที่ตลาดต่างประเทศมองดูทิศทางก่อนจะไปทางไหน แต่หากตลาดฟื้นตัว เราสามารถกลับตัวได้ภายใน 3 เดือน'

สำหรับ ปี 2561 บริษัทตั้งเป้าเติบโต 'ไม่ต่ำกว่า 10%' จากปีก่อน ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/61 จากการปรับพอร์ตการดำเนินงานของบริษัท โดยในธุรกิจขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) ได้มีการจำหน่ายเรือขนส่งที่มีอายุมากจำนวน 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 6 ลำ โดยส่งผลทำให้ สิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทจะมีเรือขนส่งเหลือ 4 ลำ แต่ทำให้อัตราการใช้งานเรือ (Utilization) ดีขึ้น และมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสามารถประหยัดต้นทุนการขนส่งได้ถึง 70%

นอกจากนี้ บริษัทยังวางงบลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อเรือเข้ามาเพิ่มเติม ในปีนี้บริษัทจะรับเรือลำใหม่เข้ามาประกอบด้วย เรือเคมีภัณฑ์จำนวน 2 ลำ เรือน้ำมันขนาด 3,000 ตัน จำนวน 1 ลำ ขณะที่ปีหน้าบริษัทมีการสั่งต่อเรือไว้ด้วย และจะมีการรับเรือน้ำมันขนาด 3,000 ตัน อีกจำนวน 4 ลำ โดยบริษัทจะนำไปทดแทนเรือที่มีอายุเฉลี่ย 25 ปี จากปัจจุบันที่มีกองเรือรวมทั้งสิ้น 25 ลำ

โดยจะมีการขายเรือออกไปอีก 1 ลำ และจะรับมอบเข้ามาเพิ่ม 3 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้จะมีกองเรือทั้งสิ้นจำนวน 27 ลำ และหากรวมกับ Big Sea จะทำให้บริษัทมีกองเรือรวมทั้งสิ้น 40 ลำ ขณะที่ ในปี 2562 จะเพิ่มเป็น 45 ลำจากการรอบมอบเรือขนาดเล็กเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ปัจจุบันอายุเฉลี่ยเรือของบริษัทอยู่ที่ 15 ปี 

อย่างไรก็ตาม ตลาดเรือขนาดเล็กมีปริมาณการเติบโตที่แน่นอน รวมทั้งสภาวะของตลาดมีการขยายตัวต่อเนื่อง ฉะนั้น บริษัทกลับมามุ่งเน้นตลาดเรือเล็กมากขึ้นเพราะทำกำไร มากกว่า ขณะที่ตลาดเรือใหญ่จะนิ่งๆ ดังนั้น กลยุทธ์ของบริษัทมองตลาดแบบ Wait & See ไปก่อน 

'เราเริ่มปรับธุรกิจตั้งแต่ปลายปีก่อน มาเน้นตลาดเรือขนาดเล็กในประเทศ เนื่องจากเรือขนาดใหญ่ไม่ทำกำไร'  

'ซีอีโอ' วิเคราะห์ทิศทางอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ ว่า ราวปี 2563 ธุรกิจเรือขนส่งทางทะเลจะฟื้นตัวชัดเจน จากปัจจุบันเริ่มทยอยผงกหัวขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของผู้ประกอบการ สะท้อนจากค่าขนส่งในต่างประเทศปรับตัวขึ้นมายังไม่ถึง 10% ถือเป็นการปรับขึ้นมาต่ำกว่าค่าขนส่งที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่าง เรือขนส่งทางทะเลลำนี้เดิมมีค่าขนส่งอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ตอนนี้ค่าขนส่งอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์ต่อวัน หากเทียบกับสมัยที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองค่าขนส่งอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ต่อวัน    

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ค่าขนส่งทางเรือปรับราคาขึ้นไปเท่าเดิม ต้องอยู่ภายใต้สมมุติฐาน 1.ปริมาณค่าขนส่งน้ำมันต้องมีจำนวนมากกว่าเดิม และ2.ปริมาณเรือที่มีอยู่ในบริเวณนั้นๆ มีจำนวนน้อย 

ท้ายสุด 'ชาญวิทย์' ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายเราอยากเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ในแง่ของผู้นำในด้านการขนส่งทางเรือ แม้ว่าอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอย่างรถไฟฟ้า แต่เชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันยังขยายตัว โดยในภูมิภาคนี้ปริมาณการใช้น้ำมันดิบขยายตัว 2-4% น้ำมันสำเร็จรูปโตมากกว่า 10%