สทนช. รุกประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ

สทนช. รุกประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ

สทนช. จับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินหน้าประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ มุ่งแก้วิกฤติน้ำอีสานอย่างยั่งยืน เป้าชัดได้แนวทางประกอบแผนภายใน ก.ย. นี้

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายในงานพิธีเปิดการประชุมแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น ว่า ขณะนี้ สทนช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เร่งดำเนินงานโครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งหวังให้ได้ข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางปรับปรุงการ บูรณาการการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำของประเทศซึ่งมีอยู่กว่า 30 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถแก้ไขวิกฤติการณ์น้ำด้านต่างๆ ได้ตรงกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง

จากอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามทุ่มเทกำลัง ความสามารถ รวมทั้งงบประมาณอย่างเต็มที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงคือภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน และเกษตรกรยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และการเร่งรัดพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปัญหาทรัพยากรน้ำซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างออกไปในทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และคุณภาพน้ำจากจุดนี้เอง สทนช. จึงเห็นว่า ข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นคำตอบสำคัญที่จะนำไปสู่การวางกรอบแนวทางเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน

“โครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็นรูปแบบการศึกษาทบทวน วิเคราะห์ข้อมูลจากอดีตจนถึงปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยหน่วยงานรับผิดชอบต่างๆ และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานระยะที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานและแสวงหาแนวทางในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดกรอบประเด็นหลักในการศึกษาไว้ 4 มิติ คือ ด้านปริมาณน้ำ ด้านคุณภาพน้ำ ด้านองค์กรที่ครอบคลุมการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติการ และคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และมิติสุดท้ายคือ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ทั้งนี้ วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลโดยโครงการจะจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชุมปรึกษาหารือกับผู้แทนหน่วยงานและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้งสิ้น 11 ครั้ง รวมทั้งจะทำการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ครอบคลุมการดำเนินโครงการทุกลักษณะงานใน 3 ลุ่มน้ำ โดยได้พัฒนาแบบสอบถามเพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำและกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ นอกจากนั้นโครงการจะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน ความต้องการใช้น้ำ คุณภาพน้ำ สภาพเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำระบบ Web Application เพื่อนำเสนอข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยองค์กรรับผิดชอบให้แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป”

นายสำเริง กล่าวต่ออีกว่า “ในระยะนี้ สทนช. ได้จัดให้มีการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหลายเรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การแบ่งขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำในประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาติดตามประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย สทนช. จะนำผลจากการศึกษาดังกล่าว ไปประกอบการกำหนดแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตลอดจนจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในภาวะปกติ และเพื่อรับมือกับปัญหาและแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด อย่างไรก็ตามความสำเร็จของโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องพึ่งพาพลังการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ที่จะให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ และก้าวเดินไปกับภาครัฐเพื่อกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ต่อไป” นายสำเริง กล่าว