แจงไม่ชงม.44 ม.แม่โจ้ เหตุขัดแย้งส่วนบุคคล

แจงไม่ชงม.44 ม.แม่โจ้ เหตุขัดแย้งส่วนบุคคล

“ธีระเกียรติ” แจงสาเหตุไม่เสนอใช้ม.44 กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุเป็นความขัดแย้งบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับสภามหาวิทยาลัย และมีการร้องเรียนกับป.ป.ช.ดำเนินการแล้ว จึงไม่เสนอชื่อ

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.61 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศ คสช. ที่ 1/2561 เรื่อง การกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ประกาศให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ล้านนา เป็นสถาบันอุดมศึกษาอื่นตามวรรคสองข้อ 12 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 และได้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมแล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่เดิมที่มีการเสนอชื่อด้วยนั้นระบุว่ามีการถอนออกไป ว่า ที่ผ่านมา ศธ.เสนอใช้อำนาจหัวหน้าคสช. แก้ไขปัญหาธรรมาภิบาล ใน 2 มหาวิทยาลัย คือ มทร.ล้านนา และม.แม่โจ้ แต่หลังจากที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช. พิจารณาแล้วมีข้อท้วงติง โดยเห็นว่ากรณีของ ม.แม่โจ้ เป็นความขัดแย้งส่วนบุคคล และเป็นความเห็นไม่ตรงกัน ไม่ใช่เรื่องของสภามหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจถอนชื่อ ม.แม่โจ้ ออกก่อนที่จะเสนอให้หัวหน้า คสช.พิจารณา

"การเสนอให้คำสั่งมาตรา 44 แก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้เสนอมาให้ผม 2 ครั้ง ครั้งแรกเสนอ มทร.ล้านนาและม.แม่โจ้ ซึ่งกรณีม.แม่โจ้ ผมได้ยับยั้งเพราะดูแล้วว่าเป็นความขัดแย้งส่วนบุคคล ไม่ใช่ความขัดแย้งกับสภามหาวิทยาลัย จึงขอให้กกอ.ไปทบทวน ต่อมาครั้งที่ 2 กกอ. ก็ยืนตามเดิมเสนอชื่อทั้ง 2 มหาวิทยาลัยมาให้พิจารณาอีก ผมจึงตัดสินใจเสนอให้คสช.พิจารณาทั้ง 2 รายชื่อ ซึ่งในกระบวนการก่อนจะถึงคสช. มีการหารือทางข้อกฎหมาย ซึ่งทางฝ่ายกฎหมาย ของคสช. ได้ท้วงติงอย่างที่ผมเคยท้วงติงกกอ. ว่าเป็นเรื่องบุคคล และมีช่องทางอื่นในการดำเนินการ ทราบว่า มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แล้ว ก็ขอให้ใช้ช่องทางนั้น สรุปว่าม.แม่โจ้ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจมาตรา 44 แต่ถ้าเมื่อไรที่กระทบกับปัญหาธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับสภามหาวิทยาลัยเช่น ไม่มีนายกฯสภา กรรมการสภาฯ ไม่สามารถประชุมได้ การทำงานไปต่อไม่ได้ นักศึกษาได้รับผลกระทบ กกอ.จะต้องเสนอเข้ามาให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาเสนอ คสช. ประกาศชื่อต่อไป เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน และเป็นข้อดีเพราะมีกระบวนการตรวจสอบและคานอำนาจ”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มคณาจารย์ร้องเรียนมายัง กกอ. และ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคน ทั้งการนำทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไปใช้ในภารกิจส่วนตัว เช่น ทอดผ้าป่าเสริมบารมี รวมถึงการใช้รถประจำตำแหน่ง ทั้งๆ ที่เบิกค่าเดินทางแบบเหมาจ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังไปแล้วกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่ง กกอ.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงมาระยะหนึ่ง และพบว่าข้อกล่าวหามีมูล ดังนั้น ในการเสนอให้ใช้อำนาจ ม.44 โดยประกาศชื่อมหาวิทยาลัยเพิ่มในคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 เพื่อแก้ปัญหาธรรมาภิบาล เนื่องจาก กรณี ม.แม่โจ้ กกอ.เคยเสนอให้ใช้อำนาจม.44 เพราะมีเรื่องร้องเรียนปัญหาธรรมาภิบาล โดย รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าควรให้ใช้กฎหมายปกติดำเนินการไปก่อน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมาก็ยังไม่มีการแก้ปัญหาแต่อย่างใด จึงเสนอยืนยันให้ใช้อำนาจตาม ม.44 อีกครั้งแต่สุดท้ายก็ไม่มีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.เพราะพิจารณาแล้วว่าเป็นความขัดแย้งของบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน