วัดพระแก้วในวังน่านิมิต

วัดพระแก้วในวังน่านิมิต

เดินชมร่องรอยในอดีตวังหน้า ไปกับคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผู้อำนวยการโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล

พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ดร.พรธรรม ธรรมวิมล และผ.ศ.พีรศรี โพวาทอง ในกิจกรรม Walk with The Cloud ทำให้เราได้พบกับความงามที่ซ่อนเร้นอยู่ในวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้วภายในวังน่านิมิต

  วังน่านิมิต เป็นชื่อนิทรรศการที่สะกดชื่อและเขียนตามพระราชนิพนธ์ “ตำนานวังน่า” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร สำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นำเสนอเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ผ่านรูปแบบ “นิมิต” หรือ เทคโนโลยีสมัยใหม่ จัดแสดงครั้งแรกที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 10-27 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยจะนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวังหน้า ในเดือนธันวาคมปีนี้

วัดพระแก้ววังหน้า จัดเป็นจุดสุดท้ายของการเดินตามรอยอดีตวังหน้า หากเป็นสถานที่ซึ่งหลายคนมีโอกาสได้เห็นเป็นครั้งแรก เนื่องด้วยปัจจุบันอยู่ภายในเขตของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีไหว้ครู พิธีครอบครู และพิธีมงคลต่าง ๆ ของบรรดานาฏศิลปิน ดุริยางคศิลปิน และกรมศิลปากร มิได้เป็นให้เข้าชมได้ทุกวัน

 วัดพระแก้ววังหน้า มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าวัดบวรสถานสุทธาวาส สร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงจตุรมุขขนาดใหญ่ ยกพื้นสูงกว่าปกติ ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ตั้งข้อสังเกตจากแผนผังว่าตั้งอยู่บนจุดสูงสุดทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีนัยทางการรักษาความปลอดภัยจากศัตรูที่มาจากทางทิศเหนือ (แม่น้ำเจ้าพระยา) ด้วยบทบาทสำคัญของวังหน้าคือการป้องกันเมือง ทั้งนี้ตำแหน่งของวัดพระแก้ววังหน้าที่อยู่บนจุดยุทธศาสตร์ยังมีพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ฝึกทหารในอดีต(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน)

อาจารย์สันติ เล็กสุขุม กล่าวว่าเนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ในวัง จึงไม่มีภิกษุจำพรรษา ครั้นจะกล่าวว่าอาคารหลังนี้เป็นพระอุโบสถก็อาจอนุโลมได้ตามคำที่เรียกขานต่อกันมา หากพิจารณากันจริงๆแล้วกลับไม่พบใบเสมา สัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นสถานที่สำหรับทำสังฆกรรมแต่อย่างใด

ความน่าสนใจของพระอุโบสถหลังนี้ อยู่ที่ผังอาคารรูปทรงกากบาท ไม่เคยพบผังอุโบสถเป็นรูปทรงกากบาท โดยโครงสร้างแล้วน่าจะเป็นอาคารที่มียอดทรงปราสาทมากกว่า

“สืบเนื่องจากประเด็นที่รับรู้กันมาว่า สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระประสงค์ในการออกแบบอาคารจัตุรมุขนั้น เพื่อต่อยอดแหลม ซึ่งได้ปรุงเครื่องไม้แล้ว แต่ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงติงว่า ไม่มีแบบแผนประเพณีที่วังหน้าจะทำยอดแหลม จึงเป็นอาคารจัตุรมุขไม่มียอด ดังที่เห็นในปัจจุบัน” อาจารย์สันติกล่าว

ในส่วนของจิตรกรรมฝาผนัง เป็นฝีมือของจิตรกรชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีเจ้าฟ้าอิศรพงศ์ ทรงเป็นแม่กองคัดเลือกช่างในกรมของพระองค์เองมาเขียน ช่างที่มีชื่อในสมัยนั้น เช่น พระอาจารย์แดง จากวัดหงส์รัตนาราม และนายมั่น เป็นต้น

เนื่องด้วยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะย้ายพระพุทธสิงหิงค์มาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถหลังนี้ (หากทรงสวรรคตก่อน จึงมิได้มีการย้าย) ดังนั้นภาพจิตรกรรมบริเวณช่องหน้าต่างจึงเขียนเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ของพระโพธิรังสี

 เหนือช่องหน้าต่าง วาดพุทธประวัติอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ โดยแสดงตอนออกมหาภิเนษกรมณ์เหมือนกันหมด แต่แตกต่างกันในรายละเอียดของเครื่องทรงและสีสันที่ใช้ โดยด้านบนสุดเขียนเรื่องจักรวาล

“ช่างเขียนสมัยร.4 จะใส่ลักษณะเฉพาะของตัวเองลงไป บรรยากาศของภาพจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากเทคนิคสมัยร.3 ที่ภาพมีความแบน การแสดงระยะใช้วิธีซ้อนกัน ในขณะที่ช่างร.4 มีการเป็นทัศนมิติแบบตะวันตกเข้ามา รูปบุคคลจะเล็กลงมีเหตุการณ์มากขึ้น

เห็นได้ชัดในภาพเขียนตำนานพระพุทธสิหิงค์ ช่างเขียนฉากเมืองลังกาเป็นตึกแบบฝรั่ง เพราะว่าเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก โดยเขียนจากภาพที่เห็นในโปสการ์ดบ้าง ฟังเขาพูดบ้าง นำมาประกอบเข้าด้วยกัน” อาจารย์สันติ อธิบายให้เห็นถึงอิทธิพลของจิตรกรรมแบบตะวันตกซึ่งเริ่มเข้ามาเป็นที่แพร่หลายในสมัยนั้น

ส่วนบานประตูหน้าต่างด้านใน เขียนภาพเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ในฐานะทวารบาลผู้คุ้มครองศาสนสถาน ได้แก่ พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม พระคเณศ ซึ่งมีความงดงามไม่แพ้กัน

หลังจากมีประกาศยกเลิกตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และทรงสถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นมาแทน วัดพระแก้ววังหน้าถูกละเลยไประยะหนึ่ง กระทั่งมาทำหน้าที่เป็นเมรุพิมานประดิษฐานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และเจ้านายอีกหลายพระองค์

รอยอดีตวัดพระแก้ววังหน้า ทำให้เราอยากจะค้นหาและเรียนรู้เรื่องราวของ “วังหน้า”ทั้งในมิติ “นิมิต” ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งเอกสารภาพถ่ายแบบโบราณควบคู่กันไป

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิกล่าวว่าให้อดใจรอชมการกลับมาของ “วังน่านิมิต” ณ วังหน้า ในเดือนธันวาคมศกนี้