แอพเดียวเที่ยวหลายพิพิธภัณฑ์

แอพเดียวเที่ยวหลายพิพิธภัณฑ์

กดจีพีเอสนำทางไปพิพิธภัณฑ์หลองข้าว ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ชนิดไม่ต้องถามใคร

ไปถึงแล้วโหลดแอพพลิเคชั่น มิวเซียม พูล (Museum Pool) ลงโทรศัพท์มือถือ แล้วสแกนคิวอาร์โค้ดไปยังวัตถุจัดแสดง เพียงเท่านี้ก็ราวกับมีมัคคุเทศก์ส่วนตัวมาบรรยายทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ บางชิ้นมีภาษาพื้นเมืองแถมอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล เกิดขึ้นจริงแล้วไม่ต้องอิงนิยาย

ครกมอง – หลองข้าว

  อยากเข้าใจวิถีไตลื้อ ต้องทำความรู้จักครกมองกับหลองข้าวเสียก่อน ถ้าเป็นเมื่อก่อนป้าปุก- พรรษา บัวมะลิ ต้องเดินนำชมครกมอง หรือครกตำข้าวที่ทำจากไม้อายุกว่าร้อยปี กับบอกเล่าความสำคัญของหลองข้าวว่าเป็นสิ่งสำคัญของชาวไตลื๊อ ซึ่งเป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กัน

“สมัยก่อนชาวบ้านแถวนี้ไม่มีครกมอง จะต้องมาตำข้าว มาตักน้ำในบ่อบ้านนี้ ที่นี่จึงเป็นเหมือนโรงสีสำหรับตำข้าว โดยมีหลองข้าวเป็นสถานที่เก็บข้าว” ป้าปุกอธิบาย

แต่หลังจากนี้ ป้าปุกไม่อยู่บ้านก็ไม่เป็นไร เพราะมีแอพพลิเคชั่นมิวเซียม พูล มาทำหน้าที่บรรยายแทน เพียงสแกนคิวอาร์โค้ตที่วางอยู่ใกล้ครกมองก็จะปรากฎทั้งเสียง ภาพและข้อมูลของครกมองให้เลือกกดตามความสนใจได้เลย

ดังเช่น “ครกตำข้าว หรือครกมองในภาษาไตลื้อ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตำข้าวในอดีต ลักษณะทำมาจากไม้ มีขนาดความยาว 341 เซนติเมตร ความกว้าง 67 เซนติเมตร ครกมองชิ้นนี้เดิมเป็นของนางจันทร์ติ๊บ บัวมะลิ ได้มอบให้กับศูนย์การเรียนรู้ฯ มีอายุการสะสมประมาณ 100 ปี”

ป้าปุกเล่าว่า เมื่อก่อนไม่เคยเห็นคุณค่าของบ้านไตลื้อ เพราะอยากอยู่บ้านตึกเหมือนคนอื่น เคยคิดว่าจะรื้อหลองข้าวเอาไม้มาทำเป็นศาลานั่งเล่นเหมือนบ้านพักครู ข้าราชการ นิยมกัน

“โชคดีมีพระท่านมาเห็นแล้วบอกว่าอย่ารื้อหลองข้าวนี้นะ เหมือนเป็นคำประกาศิต ทำให้คิดถึงบรรพบุรุษ ตั้งใจว่าเราจะรักษาหลองข้าวนี้ไว้เพื่อให้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน

แรกๆ เป็นหลองข้าวว่างเปล่า มีหนู ตุ๊กแกพากันไปอยู่ที่นั่น ข้าวของเครื่องใช้ป้าปุกมองไม่เห็นคุณค่า น้ำต้นเดิมมีหลายใบมาก ป้าปุกนำไปทิ้ง เอาไปทำแจกัน เพราะมองไม่เห็นคุณค่ากว่าจะเห็นคุณค่าน้ำต้นคณโฑสำหรับรับแขกนี้เหลือไม่ถึงสิบชิ้น

จนมีน้องๆนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่เข้ามาช่วยจัดการข้อมูล พิพิธภัณฑ์หลองข้าวของป้าปุกจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา”

ส่งเสริมคุณค่าชุมชนด้วยเทคโนโลยี

  พิพิธภัณฑ์หลองข้าวของป้าปุก เป็น 1ใน 6 ของพิพิธภัณฑ์ชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการพัฒนาระบบพิพิธภัณฑ์อิเลคโทรนิกส์ (e-Museum)และระบบนำชมพิพิธภัณฑ์(Museum Pool) เพื่อเป็นต้นแบบสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชน โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กโทรนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือเนคเทค สวทช. ,สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ,มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว

  ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค อธิบายถึง ระบบพิพิธภัณฑ์อิเลคโทรนิกส์(e-Museum)และระบบนำชมพิพิธภัณฑ์(Museum Pool) ให้เข้าใจว่า

ระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีในการจัดเก็บ บริหารจัดการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้ในรูปแบบดิจิทัล สามารถสร้างได้ทั้งแบบมีสถานที่จริงและไม่มีสถานที่จริง

ในขณะที่ ระบบนำชมพิพิธภัณฑ์ เป็นโมบายแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ โดยผู้ชมสามารถใช้แอพพลิเคชั่นเดียวเข้าถึงข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในเครือข่ายโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นทุกครั้งที่เข้าระบบใหม่

“ อีมิวเซียมคือระบบข้อมูลในการจัดการพิพิธภัณฑ์ให้เป็นอิเลคทรอนิกส์ พอเรามีอิเลคทรอนิกส์ที่มีเดต้าพร้อมแล้ว เราจะไปแปลง หรือไปปลูกเป็นแอพพลิเคชั่นอะไรก็ได้ ในขั้นต้นเรานำมาทำเป็นระบบนำชมพิพิธภัณฑ์ที่เรียกว่ามิวเซียมพูล

 ในอนาคตเราอาจนำฐานข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นแอพอื่นๆได้อีก เช่น เมื่อนำวัน เวลา สถานที่มาผูกวิเคราะห์เข้าด้วยกัน เราจะเห็นว่ามีวัตถุทางโบราณคดีเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไรได้บ้าง ใช้ตามรอยโบราณคดีได้เลย เป็นโหมดของการวิเคราะห์ข้อมูลได้อีกเยอะ” ดร.กัลยา กล่าว

ช่องว่างระหว่างไอทีกับชุมชน

  ป้าปุกมีเฟซบุ๊ค ส่งไลน์เป็นประจำ แต่ถ้าจะให้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบอิเลคโทรนิกส์ กลับรู้สึกกล้าๆกลัวๆ ช่องว่างนี้นักวิจัยจากเนคเทครู้ดีจึงได้มอบหมายให้นักศึกษาเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลาง โดยการเข้าไปจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายและประวัติของวัตถุ ผ่านโปรแกรมที่ออกแบบให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน

“อีมิวเซียมเป็นอะไรก็ไม่รู้ ป้าปุกรู้สึกถึงคุณค่าแต่ป้าปุกเข้าไม่ถึง พอได้เห็นน้องๆนักศึกษามาถ่ายภาพมีฉากขาวมาถ่ายเหมือนมืออาชีพ เห็นความตั้งใจสุดบรรยาย ป้าปุกเลยอยากรู้ไปแอบดู น้องก็สอนวิธีนำเข้าข้อมูลที่เรียกว่าหลังบ้านให้

 มีการถ่ายรูป พิมพ์ข้อมูลพอทำได้แล้ว ต่อมาอีก 3 วันป้าปุกก็ลืม ต่อมาทางเนคเทคก็มาแนะนำ แล้วให้คู่มือ ป้าปุกอ่านทั้งคืนแล้วไม่หลับไปนอนลุกขึ้นไปถ่ายรูปแล้วนำข้อมูลเข้าได้สำเร็จ” ป้าปุกเล่าถึงช่องว่างของเทคโนโลยีที่ไม่กว้างเลยหากตั้งใจที่จะเรียนรู้

“โครงการนี้ดีมาก ช่วยทุ่นแรง ทุกครั้งที่มีคนมาเราต้องเตรียมวิทยากรเอาไว้นำชม กำลังคนเราไม่พอ ตอนนี้แค่ให้โหลดแอพ แล้วสแกนคิวอาร์โค้ตเขาก็จะได้ศึกษาได้ด้วยตนเอง มีเสียงบรรยายด้วย”

ป้าปุกบอกว่า หลังจากนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปสอนต่อให้กับลูกหลานเพื่อให้ช่วยนำเข้าข้อมูลระบบหลังบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ให้กับสมาชิกในหมู่บ้านอีกต่อไป

อยากไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์หลองข้าว ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไตลื๊อบ้านใบบุญ ของป้าปุก –พรรษา บัวมะลิ เข้าไปอ่านข้อมูลได้ที่ www.anurak.in.th/thailue รวมทั้งข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในเครือข่ายได้ที่ www.anurak.in.th พร้อมดาวน์โหลดแอพพลิชั่น Museum Pool ได้ที่ App Store และ Google Play

  ไม่ต้องมีประตูไปไหนก็ได้แบบโดราเอมอน ก็ท่องพิพิธภัณฑ์ชุมชนได้ด้วยปลายนิ้ว