วิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลียชู“หมูป่า”-“หน่วยซีล”ฮีโร่

วิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลียชู“หมูป่า”-“หน่วยซีล”ฮีโร่

ขณะชุมชนออนไลน์ออสเตรเลียเรียกร้องให้มอบรางวัล"บุคคลแห่งปี"แก่ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส สำหรับปฏิบัติการกู้ชีพทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต

ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส นักสำรวจถ้ำใต้น้ำและวิสัญญีแพทย์จากเมืองอะดีเลด ผู้มีบทบาทสำคัญในภารกิจพาทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในฐานะผู้ประเมินความพร้อมร่างกายและตัดสินใจว่าควรลำเลียงเด็กคนไหนก่อนหลังเพื่อให้ภารกิจราบรื่น ไปจนถึงการเป็นนักดำน้ำคนท้ายๆที่ออกจากถ้ำหลวง แต่ในการสนทนาผ่านสไกป์กับนายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูล ของออสเตรเลีย เมื่อวานนี้ หมอกลับยกคำว่าฮีโร่ให้กับทีมหมูป่าและหน่วยซีลของไทย

“ฮีโร่ตัวจริงในงานนี้คือเด็กๆและหน่วยซีลที่ดูแล พวกเขาเป็นเด็กและผู้ชายแกร่งที่สุดเท่าที่ผมได้รับเกียรติได้พบเจอ พวกเขารับผิดชอบขวัญกำลังใจของตัวเอง รับผิดชอบความปลอดภัยของตัวเอง หากพวกเขาไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้นแล้ว เราคงทำอะไรไม่ได้ เครดิตอยู่ที่พวกเขาเหล่านั้น”หมอแฮร์ริส กล่าว

หมอแฮร์ริส เป็นหนึ่งในทีมออสเตรเลีย 20 ชีวิตที่เข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการช่วยชีวิตที่ยากจะเป็นไปได้ แต่หลังจากภารกิจประวัติศาสตร์โลกจบลงด้วยความสำเร็จไม่ได้นาน ได้รับข่าวร้ายบิดาถึงแก่กรรม จึงขอเวลาเป็นส่วนตัว

ทั้งนี้ ทีมกู้ภัยจากออสเตรเลีย รวมถึง เครก ชาเลน เพื่อนนักดำน้ำของดร.แฮร์ริส นักประดาน้ำจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติออสเตรเลีย 6 คน ซึ่งในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ พวกเขาสะท้อนความเห็นไปในทางเดียวกับดร.แฮร์ริส คือชื่นชมเด็กๆ

พล.ต.อเล็กซ์ รูบิน จากกองทัพออสเตรเลีย กล่าวว่า “ผมคิดว่าเด็กที่ผ่านความลำบากในถ้ำขนาดนี้ คือฮีโรโดยตัวของพวกเขาเอง และหน่วยซีลของไทย ซึ่งขนาดและความเสี่ยงของปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่เคยมีมาก่อน ทีมกู้ภัยต้องเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ราว 20 ตัน ไม่ว่าจะเป็นถังออกซิเจน เครื่องสูบน้ำและอาหารเข้าไปในถ้ำ”

ดร.แฮร์ริส ตั้งใจไปใช้เวลาวันหยุดกับครอบครัว แต่เปลี่ยนใจไปทำงานเสี่ยงที่ถ้ำในเชียงรายแทนอย่างไม่ลังเล หลังได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากทางการไทย ตามคำร้องขอจากนักดำน้ำชาวอังกฤษว่าไม่มีใครเหมาะสมกับงานเท่ากับคุณหมอนักดำน้ำที่สั่งสมประสบการณ์มานาน 30 ปี

นายกรัฐมนตรีเทิร์นบูล ขอให้หมอแฮร์ริส เล่าว่าตรงไหนของถ้ำหลวงที่อันตรายที่สุด ได้รับคำตอบว่า ใต้น้ำช่วง 200 เมตรสุดท้าย ยากมากในการดำผ่าน ส่วนการดำน้ำราว 2.5 กิโลเมตรจากท้ายถ้ำ ทัศนวิสัยเป็นศูนย์เพราะโคลนและดินเหนียว ต้องอาศัยมือตัวเองนำทางไป และต้องปิดตาไปเกือบตลอด โดยที่มีเด็กชายตัวเล็กอยู่ในอ้อมแขน รู้สึกได้ถึงหิน และการที่จะต้องลัดเลาะผ่านโพรงเล็กๆ

ผู้นำออสเตรเลีย กล่าวขอบคุณดร.แฮร์ริสและทีมงานออสเตรเลียในไทย “พวกคุณคือแรงบันดาลใจของออสเตรเลีย ทำให้ออสเตรเลียภาคภูมิใจ”

ด้านสมาคมการแพทย์ออสเตรเลีย (เอเอ็มเอ) ทวิตว่าดร.แฮร์ริส เป็นหมอและมนุษย์มหัศจรรย์

ขณะนี้ มีเสียงเรียกร้องจากชาวสังคมออนไลน์ออสเตรเลีย ให้ดร.แฮร์ริส ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์และนักดำน้ำในถ้ำ ได้รับรางวัลบุคคลแห่งปี หรือ “ออสเตรเลียน ออฟ เดอะ เยียร์” จากบทบาทในภารกิจกู้ภัยที่เหลือเชื่อนี้ 

ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งทวิตว่า หมอแฮร์ริส คือจิตวิญญาณที่แท้จริงของประเทศนี้ บ้างว่า “ไม่รู้จะบรรยายเป็นคำพูดได้อย่างไรถึงความภาคภูมิใจที่ผู้ชายคนนี้ ทำให้รู้สึกถึงการเป็นชาวออสเตรเลีย หลายครั้งที่เรายกย่องคนด้วยเหตุผลที่ไร้ความหมาย ถึงเวลาที่เราควรยอมรับฮีโร่ตัวจริงอย่าง ริชาร์ด แฮร์ริส”