ราคาน้ำมันดิบโลกทรุด5%เหตุวิตกสงครามการค้า

ราคาน้ำมันดิบโลกทรุด5%เหตุวิตกสงครามการค้า

รายงานจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ยังระบุว่า ซาอุดิอาระเบีย ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันราว 500,000 บาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2559 เพื่อสกัดราคาน้ำมันดิบที่ได้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส สหรัฐปิดตลาดวันพุธ(11ก.ค.) ปรับตัวลง 5% ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งอาจจะกระทบความต้องการใช้น้ำมัน และจากการที่ลิเบียประกาศเปิดสถานีส่งออกน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับผลกระทบจากการที่ซาอุดิอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนที่แล้ว เพื่อสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนส.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดไนเม็กซ์ ลดลง 3.73 ดอลลาร์ หรือ 5%  ปิดตลาดที่ 70.38 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ร่วงลง 5.46 ดอลลาร์ หรือ 6.9% ปิดตลาดที่ราคา 73.40 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์เมื่อวันอังคาร โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 10% ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าจำนวน 6,031 รายการ ตั้งแต่สินค้าเพื่อผู้บริโภคไปจนถึงสินค้าด้านการเกษตร หลังจากสหรัฐและจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้า โดยคาดว่ามาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ย.

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งสัญญาณเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในวงเงินสูงกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบเท่ากับมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนทั้งหมดในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ การตัดสินใจล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐยังมีขึ้นหลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนมากกว่า 800 รายการ ในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐในวงเงินที่เท่ากัน

ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกแถลงการณ์ว่า จีนจะใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐ หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันราว 10.5 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับราว 10 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ค.ส่วนกลุ่มประเทศโอเปก ผลิตน้ำมันราว 32.2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 173,000 บาร์เรล/วันเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.