ฮีโร่ไทย! ผู้ปิดทองหลังพระ เบื้องหลังการจัดการน้ำถ้ำหลวง

ฮีโร่ไทย! ผู้ปิดทองหลังพระ เบื้องหลังการจัดการน้ำถ้ำหลวง

"ผู้ปิดทองหลังพระ" เผย 1 ในเจ้าของเครื่องสูบน้ำพญานาค ช่วย "ทีมหมูป่า"

จากเหตุการณ์ทีม 13 หมูป่า ติดถ้ำหลวง เทือกเขานางนอน จ.เชียงราย นับตั้งแต่วันที่หายเข้าถ้ำ คือ วันที่ 23 มิ.ย.2561 จนถึงวันนี้ วันที่ 10 ก.ค. 61 วันที่ทุกคนรอคอย วันที่ภารกิจพาหมูป่าออกจากถ้ำ โดยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคน ทุกภาคส่วน และหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั้น จะสำเร็จลุล่วงลงเป็นที่เรียบร้อยและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ซึ่งความสำเร็จของภารกิจการพาหมูป่าออกจากถ้ำนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่ภายในถ้ำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาผู้ปิดทองหลังพระจำนวนมากที่ได้เข้ามาช่วยกันอย่างเต็มกำลัง ตามความสามารถเท่าที่จะทำกันได้ และหนึ่งในบรรดาผู้ปิดทองหลังพระเหล่านั้น ก็มีคนๆ นี้ พร้อมทีมงานรวมอยู่ด้วย คนที่คนสมุทรสาครรู้จักกันในนามเรียกขานทั่วไปว่า "ชลอ ยกกระบัตร" หรือชื่อจริงก็คือ นายชลอ เกิดปั้น เจ้าของเต็นท์ "ชลอ ยกกระบัตร" และเครื่องปั่นไฟ "รองชลอกระแส" ซึ่งได้นำเครื่องปั่นไฟกำลังแรงจำนวน 3 เครื่อง ไปช่วยในภารกิจพาหมูป่าออกจากถ้ำนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 61 เรื่อยมาจนถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 9 ก.ค. 61

นายชลอ เกิดปั้น วัย 50 ปีเศษ อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 187/5 หมู่ที่ 6 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเต็นท์และเครื่องปั่นไฟมานานหลายปีแล้ว โดยนายชลอเล่าว่า ที่ผ่านมาในปี 2554 เมื่อเกิดน้ำท่วมหนัก ก็เคยส่งเครื่องสูบน้ำพญานาคและทีมงานเข้าช่วยเหลือในหลายๆ พื้นที่ ทั้งในจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่วิกฤติ กระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น เมื่อทีมหมูป่า 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง ตนและครอบครัวก็ได้เฝ้าติดตามข่าวนี้มาอย่างต่อเนื่องและเห็นว่าภารกิจการค้นหาทีมหมูป่านั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัญหาอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าภายในถ้ำจึงได้โทรศัพท์ไปถามทางหน่วยงานที่จังหวัดเชียงราย ว่าตนพอที่จะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งทางจังหวัดเชียงรายก็ถามกลับมาว่า แล้วทางนี้มีอะไรบ้าง ตนก็บอกกลับไปว่า มีเครื่องปั่นไฟกำลังแรง กับ มีท่อสูบน้ำแบบมอเตอร์ (ใช้กำลังไฟ) กับ ท่อสูบน้ำพญานาค (ใช้น้ำมันดีเซล)

ครั้นพอทางจังหวัดเชียงรายได้ยินว่ามีเครื่องปั่นไฟ ก็รีบตอบรับทันที เพราะว่าเป็นสิ่งที่กำลังต้องการที่สุด ดังนั้นตนจึงได้จัดเครื่องปั่นไฟขนาด 150 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง เครื่องปั่นไฟขนาด 250 กิโลวัตต์ 1 เครื่อง ท่อสูบน้ำแบบมอเตอร์ 1 เครื่อง และ ท่อสูบน้ำแบบพญานาคอีก 1 เครื่อง พร้อมกับทีมงาน 5 คน ขึ้นรถบรรทุก 3 คัน มุ่งตรงไปจังหวัดเชียงรายทันที เมื่อไปถึงก็ได้รับการจัดสรรให้เข้าปฏิบัติหน้าที่บริเวณปากทางเข้าถ้ำ กับ ด้านหลังถ้ำ ซึ่งตนและทีมงานได้ปฏิบัติภารกิจแบบ 24 ชั่วโมงทุกวัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. 61 วันที่พาลูกหมูป่าพ้นออกจากถ้ำมาได้บ้างแล้วนั้น ก็ได้ถอนกำลังกลับมาที่อำเภอบ้านแพ้ว เนื่องจากเครื่องปั่นไฟที่ทาง กฟภ.เชียงรายมีอยู่เดิมนั้น เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ที่เหลืออยู่

นายชลอฯ บอกอีกว่า ในวันที่รู้ว่าทีมหมูป่าติดถ้ำตนเองก็รู้สึกใจหายและอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือภารกิจสำคัญครั้งนี้ จนถึงวันนี้ วันที่สามารถพาหมูป่าออกจากถ้ำได้แล้วนั้น ตนเองรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก เหมือนกับชาวไทยและคนทั่วโลก ที่เฝ้าดูการช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต รวมถึงได้เห็นพลังอันสำคัญจากทุกหน่วยงาน จากคนไทยทั่วทั้งประเทศ และน้ำใจจากทั่วโลก ที่หลั่งไหลมารวมกันที่ถ้ำหลวง เพื่อให้ภารกิจพาหมูป่า 13 ชีวิต ออกจากถ้ำ และกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แม้ว่าพวกตนจะเป็นแค่ผู้ปิดทองหลังพระ แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้