ติวเข้มระบบการประเมินความเสี่ยง-ความมั่นคงทางการเงิน ของบ.ประกันภัย

ติวเข้มระบบการประเมินความเสี่ยง-ความมั่นคงทางการเงิน ของบ.ประกันภัย

คปภ. ติวเข้ม! ระบบการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัยตามกติกาสากล เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารความเสี่ยงให้บริษัทประกันภัยไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “แนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA)” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องเลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิส โซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยเปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ERM/ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย และชี้แจงแนวทางการกำกับการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงิน (ORSA) ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของภาคธุรกิจที่มีต่อ Consultation Paper และผลการทดสอบ ORSA รวมถึงแนวทางการบังคับใช้ ERM/ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย โดยมีผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนจากภาคธุรกิจบริษัทประกันภัยเข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการพัฒนากรอบและแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) เพื่อเสริมสร้างการกำกับความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย และเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประเมินภาคการเงินภายใต้โครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ในส่วนของมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ฉบับที่ 16: การบริหารจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวมเพื่อความมั่นคงทางการเงิน (ICP 16: Enterprise Risk Management for Solvency Purposes) ซึ่งสำนักงาน คปภ. เริ่มต้นพัฒนาโครงการ ORSA ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 โดยได้ดำเนินการจ้าง บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อให้คำแนะนำเชิงเทคนิคสำหรับการพัฒนาแนวทางการกำกับ ERM และ ORSA โดยผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (Own Risk Solvency Assessment : ORSA) มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างเครื่องมือและกระบวนการดำเนินการภายในบริษัทที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง ให้การบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีประสิทธิภาพสามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการดำเนินธุรกิจและทำให้การบริหารความเสี่ยงผูกโยงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินในเชิงกลยุทธ์ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเพื่อสร้างการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยให้เป็นระบบ โดยมีการระบุบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ และขั้นตอนการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมดอย่างชัดเจน เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยง และเพื่อเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนธุรกิจ โดยเน้นมุมมองและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในอนาคตมากยิ่งขึ้น (Forward-looking) รวมถึงเพื่อเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนการบริหารจัดการเงินกองทุน เพื่อให้บริษัทมีการเตรียมการวางแผนทางการเงินเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในทุกสถานการณ์

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย (ORSA) แบ่งเป็น 5 ด้าน ดังนี้

ด้านแรก คือ การจัดทำร่างสารัตถะการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทได้จัดทำแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ในรูปแบบของ Consultation paper ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการฯ โดยสามารถสรุปแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ในเบื้องต้น ประกอบด้วย 1) กรอบและกระบวนการบริหารความเสี่ยง 2) นโยบายการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Policy) 3) การเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงกลยุทธ์และเงินกองทุน (Linkage between Risk, Strategy and Capital) 4) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) 5) ความเสี่ยงและการระบุความเสี่ยง (Risk Exposure and Identification) 6) การทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) และการคาดการณ์การทางธุรกิจ (Business Projection) 7) การประเมินความมั่นคงทางการเงิน (Solvency Assessment) และการจัดการเงินกองทุนและเงินกองทุนขั้นต่ำที่บริษัทประกันภัยต้องดํารงไว้ (Capital Requirement and Management) และ 8) การรายงานความเสี่ยงและการจัดการข้อมูล คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและหน่วยงานบริหารความเสี่ยงควรรายงานผลการบริหารความเสี่ยง ต่อคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอย่างน้อยทุกไตรมาส และจัดทํารายงาน ORSA นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ด้านที่สอง คือ การทดสอบการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) สำนักงาน คปภ. กำหนดให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งเข้าร่วมการทดสอบการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนด และจัดทำ Market survey เพื่อสำรวจความพร้อมของบริษัทประกันภัยที่มีต่อกรอบและกระบวนการ ERM/ORSA ซึ่งกำหนดให้นำส่งผลการทดสอบภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยให้ความร่วมมือในการจัดทำรายงานการทดสอบ ORSA ในครั้งนี้เป็นอย่างดี และผลสำรวจการเตรียมความพร้อมของบริษัทประกันภัยที่มีต่อกรอบ ERM/ORSA พบว่าบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่มีความพร้อมในการดำเนินการตามกรอบและแนวทางการกำกับ ERM/ORSA ตามที่สำนักงาน คปภ.เสนอ ภายในระยะเวลา 1-2 ปี

ด้านที่สาม คือ การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยเข้าใจหลักการและความสำคัญของ ORSA และสามารถจัดทำรายงานการทดสอบ ORSA ได้ตรงตามความคาดหวังของสำนักงาน คปภ. นอกจากนี้ได้ดำเนินการจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ORSA ให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีเนื้อหาครอบคลุมกรอบและกระบวนการบริหารความเสี่ยง นโยบายการบริหารความเสี่ยง การทดสอบภาวะวิกฤต การประเมินความมั่นคงทางการเงินของบริษัท การเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยง กลยุทธ์องค์กร และการบริหารจัดการเงินกองทุน รวมถึงการประเมินความถูกต้องของกรอบ ORSA อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านที่สี่ คือ การพัฒนาคู่มือการวิเคราะห์และติดตามความเหมาะสมของกระบวนการ ORSA และจัดอบรมเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในด้านกำกับและด้านตรวจสอบ สำนักงาน คปภ.ได้พัฒนาคู่มือการติดตามและวิเคราะห์ความเหมาะสมของกระบวนการ ORSA ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการฯ โดยแบ่งขั้นตอนการวิเคราะห์และติดตามออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะแรก การตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA โดยผู้วิเคราะห์ดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ในแต่ละหัวข้อของรายงาน ทั้งนี้ ผู้วิเคราะห์ควรประเมินและให้คะแนนแต่ละหัวข้อ โดยอาจแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ สีแดง คือ หากพบว่าข้อมูลในส่วนที่สำคัญขาดหายไปหรืออธิบายครอบคลุมเพียงแค่บางส่วน สีเหลือง คือ หากพบว่าบริษัทยังอธิบายไม่เพียงพอและมีความจำเป็นต้องให้มีการอธิบายข้อมูลเพิ่มเติม และ/หรือ ไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดของ ERM/ORSA และสีเขียว คือ ข้อมูลที่ระบุไว้เพียงพอและครบถ้วนตามข้อกำหนดของ ERM/ORSA

ระยะที่สอง การประเมินประสิทธิภาพของกรอบ ERM/ORSA ภายหลังจากการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ในระยะที่ 1 แล้ว ผู้วิเคราะห์จัดส่งรายงานการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ให้กับผู้ตรวจสอบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกรอบ ERM/ORSA ของบริษัท ณ ที่ทำการ ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบอาจให้คะแนนแต่ละหัวข้อ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สีแดง คือ หากพบว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการนำกรอบ ERM/ORSA ไปปฏิบัติจริง สีเหลือง คือ หากพบว่า หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการ นำกรอบ ERM/ORSA ไปปฏิบัติจริง ตามที่ระบุไว้ในรายงาน ERM/ORSA มีอยู่อย่างจำกัดหรือไม่ครบถ้วน และ สีเขียว คือ มีหลักฐานเพียงพอที่แสดงว่า บริษัทได้นำกรอบ ERM/ORSA ไปปฏิบัติจริง ตามที่ระบุ ไว้ในรายงาน ERM/ORSA

ด้านที่ห้า คือ การจัดทำร่างประกาศว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ซึ่งสำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างสารัตถะของประกาศว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการฯ โดยพิจารณาจากข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นต่อ ORSA consultation paper และแบบสอบถามการเตรียมความพร้อมที่มีต่อกรอบและกระบวนการ ERM/ORSA ของบริษัทประกันภัย เพื่อจัดทำร่างประกาศ ERM/ORSA ที่เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย และสอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ฉบับที่ 16: การบริหารจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวมเพื่อความมั่นคงทางการเงิน (ICP 16: Enterprise Risk Management for Solvency Purposes) ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยต่อไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี สามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจประกันภัยเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยได้ฝากข้อคิดบนพื้นฐานความพร้อมของการดำเนินธุรกิจไว้ 3 ประการ ได้แก่ คนพร้อม คือ บุคลากรที่เข้าใจด้านความเสี่ยง ผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง บริษัทมีนโยบายสร้างวัฒนธรรมความเสี่ยง (risk culture) ให้เกิดขึ้นในองค์กร ระบบงานพร้อม คือ มีระบบงานที่พร้อม เหมาะสมกับสภาพ ขนาด ความซับซ้อนของบริษัท โดยเชื่อมโยงความเสี่ยงของทุกหน่วยธุรกิจและสามารถนำมาบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ข้อมูลพร้อม คือ มีการเก็บข้อมูลความเสี่ยงที่ดี น่าเชื่อถือ และ สอบทานได้ ก่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“สำนักงาน คปภ.จะมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงในลักษณะ Forward Looking โดยผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (Own Risk Solvency Assessment : ORSA) เพื่อสร้างเครื่องมือและกระบวนการดำเนินการภายในบริษัทที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง ให้การบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีประสิทธิภาพสามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการดำเนินธุรกิจและทำให้การบริหารความเสี่ยงผูกโยงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินในเชิงกลยุทธ์ได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ การสร้างการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยให้เป็นระบบ โดยมีการระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และขั้นตอนการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมดอย่างชัดเจน เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยง การเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนธุรกิจ โดยเน้นมุมมองและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในอนาคตมากยิ่งขึ้น (Forward-looking) และเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนเพื่อให้บริษัทมีการเตรียมการวางแผนทางการเงินเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยปิดช่องว่างระหว่างกฎระเบียบของสำนักงาน คปภ. และเกณฑ์การกำกับ ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินตามมาตรฐาน ICP เพื่อยกระดับการกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ.ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย