เจาะ 5 จุดอ่อนญี่ปุ่นพ่ายฝนมรณะ

เจาะ 5 จุดอ่อนญี่ปุ่นพ่ายฝนมรณะ

เปิด 5 ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติเป็นอย่างดี กลับต้องเสียหายยับเยินกับน้ำท่วม-ดินถล่ม ยอดผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ จึงต้องเตรียมการรับมือเป็นอย่างดี แต่ครั้นมาเจอฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์เข้ามีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 100 คน จึงน่าสนใจศึกษาปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมดินถล่มคราวนี้รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

1. ฤดูไต้ฝุ่น-ฝนตกหนักทุบสถิติ

ฝนตกหนักเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับแนวไต้ฝุ่นประจำฤดู โดยเฉลี่ยหมู่เกาะญี่ปุ่นเจอไต้ฝุ่นปีละ 6 ลูก ระหว่างเดือน ก.ค.ถึง ต.ค. หรือ พ.ย.

แนวพายุทำให้ฝนตกหนักและลมพัดแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจับตาอย่างใกล้ชิด แม้รัฐบาลมีหลายมาตรการป้องกันการเสียชีวิต เช่น เขื่อนควบคุมระดับน้ำ แต่คราวนี้ข้อมูลจากสถานีสังเกตการณ์ 118 จุดรอบพื้นที่น้ำท่วมพบว่า ฝนตกหนักอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในรอบ 72 ชั่วโมงนับถึงวันอาทิตย์ (8 ก.ค.)

2. สภาพภูมิประเทศซับซ้อน

พื้นที่ญี่ปุ่นราว 70% ประกอบด้วยภูเขาและเนินเขา บ้านเรือนจึงมักปลูกตามที่ลาดชัดหรือที่ราบน้ำท่วมถึงด้านล่าง

นายฮิโรยูกิ โอโน หัวหน้าศูนย์เทคนิคดินถล่มและควบคุมทรายกรัดกร่อน กล่าวว่า นอกจากนี้สภาพภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่นยังประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกและชั้นภูเขาไฟ ทำให้บ้านเรือนหลายหลังอยู่ในแนวที่มีโอกาสเกิดดินถล่มและน้ำท่วม

รัฐบาลมีโครงการระยะยาวผลักดันให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงย้ายออกไป รวมถึงห้ามการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ในพื้นที่เสี่ยงที่สุดแต่โครงการยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งหมายความว่าคนจำนวนมากยังอยู่ในพื้นที่อันตราย 

3. บ้านไม้

บ้านไม้ในญี่ปุ่นยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะบ้านเก่าหรือสร้างแบบโบราณที่ได้รับความนิยมมากในชนบท ฐานบ้านทำด้วยไม้เพื่อความยืดหยุ่นในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่อาจต้านทานน้ำท่วมหรือดินถล่มได้จึงเกิดภาพดินถล่มกวาดบ้านชั้นบนพังลงมากองอยู่ชั้นล่าง บางหลังก็ถูกดินกวาดออกไปจากที่ดินเดิม

4. คำสั่งอพยพ

ในช่วงที่ฝนตกหนักสุดทางการประกาศอพยพประชาชนราว 5 ล้านคน แต่ก็เป็นเพียงคำสั่งไม่มีผลบังคับ หลายคนจึงไม่ปฏิบัติตาม

“คนเรามักมีอคติเป็นปกติอยู่แล้ว เท่ากับว่าไม่มีใครอพยพ ไม่สนใจข้อมูลด้านลบ ธรรมชาติแบบนี้ทำให้มนุษย์ไม่ตอบรับกับภัยพิบัติอย่างดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน” นายฮิโรทาดะ ฮิโรเซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวด้วยว่าระบบเตือนภัยของญี่ปุ่นเองก็มีปัญหา การตัดสินใจออกคำสั่งอพยพมักเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้ไม่มีประสบการณ์จัดการภัยพิบัติ

“การลังเลออกคำสั่งอพยพอาจทำให้เกิดความล่าช้า แต่ถ้าประกาศในเวลาไม่เหมาะสมก็ไม่มีใครได้ยิน” นายฮิโรเซกล่าวเสริม

5. โลกร้อน

ชาวบ้านหลายคนอาจชินกับสภาพอากาศรุนแรงแต่ไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ฝนคราวนี้พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อน

นายโอโนกล่าวว่า ภัยพิบัติผลพวงจากฝนตกหนักเพิ่มขึ้นทุกที “เรากำลังเผชิญกับโลกที่กฎเกณฑ์จากประสบการณ์เก่าใช้ไม่ได้อีกต่อไป”

นักวิทยาศาสตร์เตือนแล้วว่า ผลพวงหนึ่งจากภาวะโลกร้อนคือภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องจากฝนเกิดมากขึ้น ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญก็ได้แต่ย้ำว่า ประชาชนควรอพยพก่อนมีคำสั่ง หากพยากรณ์อากาศระบุว่ามีแนวโน้มเกิดฝนตกหนัก