10 เทรนด์เทคโนโลยี  เปลี่ยนโลก-สร้างชีวิตใหม่ 

10 เทรนด์เทคโนโลยี  เปลี่ยนโลก-สร้างชีวิตใหม่ 

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี ผู้อำนวยการ สวทช. ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเทคโนโลยีแกนหลักของประเทศ จะอัพเดตเทรนด์เทคโนโลยี “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง” ส่งสัญญาณให้นักลงทุนเลือกพิจารณาลงทุนให้เหมาะสม

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง” ที่ สวทช. นำเสนอเป็นประจำทุกปีในงาน NSTDA Investors’ Day เพื่อส่งสัญญาณให้นักลงทุนทำความเข้าใจทิศทางแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ และเลือกพิจารณาลงทุนให้เหมาะสม ล้วนแต่อยู่ใกล้ตัวเรา เปลี่ยนแปลงก้าวหน้ารวดเร็วมาก จะส่งผลต่อวิถีชีวิตใน 5-10 ปีข้างหน้าและปราศจากพรมแดน ไม่ได้เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง โดยเห็นได้จากนักวิจัยหรือหน่วยงานวิจัยจับมือกันทำงานข้ามประเทศ


10 เทคโนโลยีนี้อยู่ในกลุ่มการแพทย์และสุขภาพมากสุดถึง 6 เรื่อง ส่วนที่เหลืออยู่ในกลุ่มวัสดุศาสตร์และดิจิทัล อย่างละ 2 เรื่อง เริ่มด้วย 

1.แบคทีเรียลดยุงพาหะ เป็นการศึกษาทำให้ยุงติดเชื้อแบคทีเรียสกุลโวลบาเชีย (Wolbachia) ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ไข่ฝ่อ ฟักไม่ได้ ทั้งยังทำให้ยุงพาหะไม่สามารถนำโรค เพราะเชื้อก่อโรคไม่อาจเติบโตในตัวพวกมัน ขณะนี้เริ่มทำการทดสอบแล้วใน 2 ประเทศคือสิงคโปร์และออสเตรเลีย

2.วัคซีนกินได้โดยนำสารพันธุกรรมของเชื้อโรคที่ไม่เกี่ยวกับการก่อโรคมาใส่เข้าไปในพืช เช่น มันฝรั่ง ยาสูบ กล้วย มะเขือเทศ ผักกาดหอม ข้าวโพด ถั่วและข้าว แล้วปลูกในกระบวนการเพาะเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพสูงในที่ปิด ที่เรียกว่า plant factory ก็จะได้พืชผักที่กินเป็นวัคซีนได้  

3.เซลล์สำหรับทดสอบยา เป็นแนวคิดในการนำเซลล์ผู้ป่วยมาทำให้เป็นสเต็มเซลล์แบบพิเศษ iPSC แล้วนำมาทดสอบยาได้โดยตรงก็จะได้คำตอบที่รวบรัดชัดเจนว่า ยานั้นก่อปฏิกิริยาทางลบหรือการแพ้ยาหรือไม่ เป็น 1 ในแนวทางของการแพทย์ส่วนบุคคล ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยอยู่ในบริษัท Elveflow ฝรั่งเศส

4. การบำบัดส่วนบุคคล เมื่อนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ชินยะ ยามานะกะ ค้นพบวิธีการสร้าง “ตั้งโปรแกรมเซลล์ใหม่” หรือ reprogramming cell ซึ่งช่วยเปลี่ยนเซลล์ร่างกายแบบอื่นๆ ที่มีจำนวนมาก เช่น เซลล์ผิวหนังให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ iPSC ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบนี้ในปี 2555 รวมถึงยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีแก้ไขดีเอ็นเอ/ดัดแปลงยีน หรือที่เรียกว่า CRIPR/Cas9 (คริสเพอร์แคส 9) จะทำให้แก้ไขโรคต่างๆ ได้ รวมทั้งโรคพันธุกรรมที่เดิมไม่เคยรักษาได้มาก่อนเลย โดยตัวอย่างโรคแรกๆ ที่ทดลองไปคือ โรคจอตาเสื่อม

5. เข็มจิ๋วอัจฉริยะ จากเข็มจิ๋วระดับนาโนได้รับการพัฒนาให้ฉลาดขึ้น ทำงานได้อย่างอเนกประสงค์มากยิ่งขึ้น เช่น การเชื่อมต่อกับตัวรับสัญญาณหรือเซนเซอร์ ทำให้สามารถตรวจวัดการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกายตามเวลาจริง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลอยู่ตลอดเวลา ก็อาจต้องอาศัยเข็มแบบนาโนนี้แปะติดกับผิวหนัง ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เข็มฉีดยา แต่กลายเป็น ชุดวัดระดับน้ำตาลไปด้วยในตัว

6. นาโนวาล์วส่งยา ระบบนำส่งโมเลกุลหรือยาไปสู่เซลล์เป้าหมายและควบคุมการปลดปล่อย ณ ตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ส่วนการควบคุมการปิด-เปิดของวาล์วนั้น อาจจะอาศัยกลไกการเปลี่ยนแปลงค่าพีเอช หรือ สารจำเพาะบางอย่างในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเป้าหมาย เช่น เซลล์เนื้องอกหรือมะเร็งมีค่าพีเอช หรือสารจำเพาะที่ต่างจากเซลล์ปกติ ทำให้วาล์วเปิดและปล่อยสารหรือยาที่อยู่ภายในออกมา แถมยังสามารถควบคุมได้จากภายนอกร่างกาย หรือภายนอกเซลล์ เช่น ใช้การกระตุ้นด้วยแสง ความร้อน หรือ สนามแม่เหล็ก จึงเป็นอีกทางหนึ่งในการรักษาโรคในอนาคต

7. การพิมพ์โลหะ 3 มิติ คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2562 จะมีเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติไว้ใช้ตามออฟฟิศได้ โดยใช้พิมพ์ชิ้นส่วนโลหะสำหรับใช้ซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาที่ไม่ต้องการการผลิตจำนวนมาก แต่ต้องมีความจำเพาะเจาะจง เช่น ในทางการแพทย์ การพิมพ์ในสถานที่เข้าถึงยาก เช่น เรือดำน้ำ ยานอวกาศ

8. วัสดุดูดซับเสียงออกแบบได้ เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเสียงดังจากยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องจักร ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง โดย “โฟมอะลูมิเนียม” เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติดูดซับเสียง ลดระดับเสียงจาก 90 เดซิเบล เป็น 64 เดซิเบล แข็งแรง ทนแรงกระแทก น้ำหนักเบา ไม่ลุกติดไฟ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย

9. เทคโนโลยีไซเบอร์-ฟิสิคัล ตอบเทรนด์การเพิ่มจำนวนของประชากรในเขตเมือง โดยเมืองกายภาพ หรือ physical city และเมืองไซเบอร์ หรือ cyber city จะเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายเซนเซอร์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หลากหลายชนิดเกิดความเป็น “เมืองแบบไซเบอร์-ฟิสิคัล” ซึ่งจะเกิดโอกาสทางธุรกิจแบบใหม่จำนวนมากเช่น ระบบบริการรถของอูเบอร์ ร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีแคชเชียร์ (อะเมซอน โก) หรือระบบจัดการจราจรที่เรียกว่า City Brain ของอาลีบาบาที่ทำงานผ่านกล้องซีซีทีวี และ Cloud Computing AI ทำให้การจราจรเมืองหางโจวของจีนคล่องตัวขึ้น 15% และกำลังขยายมาสู่ประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซียการผนวกสองมิติของเมืองเข้าด้วยกัน เริ่มจากการเชื่อมต่อของสิ่งต่างๆ ในโลกกายภาพแบบเป็นเครือข่าย ซึ่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ IoT เป็นตัวช่วยสำคัญ ปัจจุบัน สวทช. กำลังสร้างฐานเทคโนโลยีระบบนี้ผ่านโครงการเน็ตพาย (NETPIE) และโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน

10. เทคโนโลยีแชทบอต ทุกวันนี้โลกกำลังขยับจากยุคดิจิทัลเข้าสู่ยุคอัจฉริยะ คนจำนวนมากมีเครื่องคอมพิวเตอร์พลังสูงพกติดตัว เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดึงข้อมูลจากทั่วโลกได้ทุกที่ทุกเวลา สมาร์ทโฟนสมาร์ทโฮม ตลอดจนหุ่นยนต์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ และในอนาคตอันใกล้ วิธีการสำคัญที่มนุษย์จะใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่ใช่คีย์บอร์ด เมาส์ หรือทัชสกรีน แต่เป็นการสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติ (Seamless Conversation) ผ่านเทคโนโลยีแชทบอต ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้มนุษย์พูดคุย สั่งงานและสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้เช่นเดียวกับการสนทนากับคนด้วยกันเอง  ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีแบบนี้มาประยุกต์ใช้งานหลายรูปแบบ เช่น แชทบอตสำหรับบริการลูกค้า (Customer Service Chatbot) เช่น Line@ และ Siri ระบบในลำโพงอัจฉริยะ เช่น HomePodและ Echo ระบบในหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เช่น หุ่นยนต์ดินสอ และ Pepper ในระบบสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติ ระบบต้องรู้จำเสียงพูด ทำความเข้าใจภาษาได้ สนทนากับคนได้ และมีระบบสืบค้นข้อมูล ระบบสังเคราะห์ภาษา รวมถึงระบบสังเคราะห์เสียงพูด ซึ่งใกล้เคียงกับคนจริงๆ มากขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งนี้ หน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCCRU) เนคเทค สวทช. ทำวิจัยส่วนประกอบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปีปัจจุบันมีระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทยที่รองรับคำศัพท์หลากหลาย มีระบบจัดการการสนทนา และระบบสังเคราะห์เสียงพูดที่เป็นธรรมชาติ หน่วยวิจัยฯ ร่วมงานกับพันธมิตรภาคธุรกิจเพื่อวิจัยและพัฒนา รวมถึงประยุกต์ใช้ในงานบริการลูกค้าแบบเฉพาะด้านอีกด้วย

“ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในการคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ นี้ได้มากบ้างน้อยบ้าง นอกจากเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการทำความเข้าใจทิศทางและแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งอาจจะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในปัจจุบัน ข้อมูลเหล่านี้ยังมีความสำคัญสำหรับบุคคลทั่วไปเช่นกัน เพื่อให้ทันรับมือกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาใกล้ชิดกับเราโดยคาดไม่ถึงในทุกมิติของชีวิต” นายณรงค์ กล่าว