“สวนครูองุ่น” ไข่แดงกลางเมือง สู่ SE เยียวยาสังคม

“สวนครูองุ่น” ไข่แดงกลางเมือง สู่ SE เยียวยาสังคม

ที่ดินไข่แดงกลางเมือง ย่านทองหล่อมูลค่ากว่า 500 ล้าน คือผืนดินที่มูลนิธิกระจกเงาเข้ามาสืบสานเจตนารมณ์ของ“ครูองุ่น”เจ้าของพินัยกรรม แปลงพื้นที่รกร้างเป็นสวนพักใจฟอกปอด ลานกิจกรรมคนเมือง ให้คุณค่าทางจิตใจ แบ่งส่วนบริหารเชิงพาณิชย์หล่อเลี้ยงมูลนิธิ

เมื่อย่านใจกลางสุขุมวิทเติบโตไม่หยุด ตึกสูงระฟ้าเกิดขึ้นเคียงคู่กับแนวเดินรถไฟฟ้า อย่างยากจะทัดทาน

ไม่น่าเชื่อว่าทำเลที่ดินราคาแพงระยับแห่งนี้ ยังหลงเหลือสวนเขียวที่ชื่อว่า "สวนครูองุ่น" ที่ดินน้อยผืนที่ดูร่มรื่นชื่นปอด เปิดต้อนรับผู้คนตั้งแต่หัวซอยถึงท้ายซอยให้มาพักผ่อนหย่อนอารมณ์ 

ภาพชินตา ช่วงเย็นของวันจะเห็นพ่อแม่จูงเด็กเล็ก ทั้งคนไทย นานาชาติ พากันมาวิ่งเล่นในสวน ที่มีมุมสนามเด็กเล่นไว้ต้อนรับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย

ขณะที่รูปแบบการบริการสวยแห่งนี้ ไม่ต่างจากสวนสาธารณะ ทั้งๆที่เป็นสวนเอกชน ที่เจ้าของคือ มูลนิธิไชยวนา รับมอบพินัยกรรมจาก ครูองุ่น มาลิก ครูสอนภาษาอังกฤษ และจิตวิทยา ผู้ใจบุญเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ มักใช้พื้นที่ส่วนตัวแห่งนี้ทำสาธารณประโยชน์ เช่น เปิดสอนภาษาเด็ก รักษาพยาบาลคนยากไร้ เป็นเนอร์สเซอร์รี่เลี้ยงเด็ก โดยกิจกรรมประจำที่ครูองุ่นทำเสมอคือ “สอนละครหุ่นมือให้กับเด็กๆ”

ดังนั้นหลังสิ้นครูองุ่น  สมบัติครูจึงถูกนำมาสร้างสาธารณประโยชน์หล่อเลี้ยงชีวิตสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันสวนของครูมี 2 แห่งคือที่ เชียงใหม่ และที่ทองหล่อ พินัยกรรมของครูองุ่นระบุการใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงงามแห่งนี้ไว้ชัดเจนว่า..

"หลังจากที่ข้าพเจ้าเสียชีวิต ขอให้ที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม

ว่ากันตามมูลค่าที่ดินทองหล่อซอย 3 แห่งนี้ เนื้อที่กว่า 250 ตารางวา ชุตินาถ กาญจนกุล ผู้จัดการโครงการสวนครูองุ่น และทีมงานด้านการออกแบบมูลนิธิกระจกเงา บอกว่า มูลค่าราคาที่ดินตามาราคาตลาด ประเมินเมื่อปีที่แล้วราว 500 ล้านบาท หรือตารางวาละ 2 ล้านบาท

นี่คือที่ดินรกร้องที่มีศักยภาพ !  ซึ่ง “มูลนิธิกระจกเงา” ได้เขียนโครงการนำเสนอต่อมูลนิธิไชยวนา เพื่อเข้ามาบริหารสืบสานเจตนารมณ์ของครูองุ่น นำพื้นที่สร้างสาธารณประโยชน์ พร้อมกับสร้างรายได้นำส่งมูลนิธิเดือนละ 50,000 บาท สะสมเป็นกองทุนสืบสานงานครูองุ่น คือการสร้างโรงละครในสวนสำหรับจัดกิจกรรมให้กับเด็ก เยาวชน และคนในสังคม

“สวนครูองุ่น” เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ ต.ค.ปีที่ผ่านมา นับถึงปัจจุบัน เปิดให้บริการเกือบ 10 เดือน โดยชุตินาถและทีมงานมูลนิธิกระจกเงา รวมถึงอาสาสมัคร เข้ามาช่วยกันเนรมิตสวนรกร้างว่างเปล่า ให้เป็นสวนสวยร่มรื่นเปิดรับเพื่อนบ้านผู้มาเยือน

อุปกรณ์เกือบทุกชิ้นของมูลนิธิแปลงมาจากของเหลือใช้ที่ได้รับบริจาค เช่น ไม้พาเลท มาทำเป็นสนามเด็กเล่น แรงงานมาจากอาสามัคร เงินลงทุนจริงจึงอยู่ในหลักแสนบาท

“เราได้สวนที่มีคุณค่าทางจิตใจให้ครอบครัวรอบๆ ซอยทองหล่อเข้าทำกิจกรรมในครอบครัวคนเมือง แทนการไปห้างสรรพสินค้า” ชุตินาถ เล่า

โดยพื้นที่ด้านหน้า ถูกแบ่งให้มีมุมร้านกาแฟ สำหรับนั่งพักผ่อน ในร้านกาแฟ ยังมีสินค้ามือสองจำหน่าย และสอนตัดเย็บ มีมุมนั่งเล่นที่ใครจะมานั่งก็ได้ไม่ว่ากัน ส่วนพื้นที่ที่เหลือจัดเป็นสวนพักใจให้เด็ก และครอบครัวได้เดินชมสวน ขณะที่บางวันหยุดสุดสัปดาห์ มีกิจกรรมแสดงหุ่นมือ

ชุตินาถ เล่าว่า แม้พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นสวนสาธารณะ แต่ก็ยังหารายได้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มูลนิธิเลี้ยงตัวเอง และแบ่งรายได้บางส่วนทำกิจกรรมเพื่อสังคม  เช่น เปิดเช่าพื้นที่ทำกิจกรรม ตั้งแต่ส่วนบุคคล เปิดจัดเลี้ยงงานวันเกิด นัดพบปะสังสรรค์ ขณะที่กลุ่มเอกชน อาจจะจัดประชุม กิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์ในบริษัท รวมไปถึงกลุ่มภาคธุรกิจที่มีการจัดอีเวนท์ เล็กๆกลางกรุง ตลอดจนกลุ่มองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร(NGO) ก็เข้ามาจัดกิจกรรมเพื่อสังคม

โดยในช่วงแรกๆ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรอ็อกแฟม ประเทศไทย (Oxfam in Thailand) จัดกิจกรรมเดือนละครั้งเป็นเวลา 6 เดือน เพราะเป็นการเกื้อกูลกันในกลุ่มของ NGO ราคาจัดงานเริ่มต้นตั้งแต่ครั้งละ 1,000 บาท จนถึง 10,000บาทต่อครั้ง

“เป็นการเจรจาระหว่างผู้เข้ามาจัดงาน หากเป็นกลุ่มบุคคลเล็กๆราคาก็ต่ำ แต่หากเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ก็คุยกันว่ามีงบเท่าไหร่ สูงสุดราวหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์เพราะเป็นเงินที่เข้าสนับสนุนกิจกรรมมูลนิธิ แต่หลักหมื่นก็ยังถือว่าราคาเช่าจัดกิจกรรมต่ำกว่าราคาท้องตลาด” เธอเล่าและว่า

สิ่งที่พื้นที่แห่งนี้ได้เปรียบทำคือ ทำเลใจกลางเมือง เป็นสวนธรรมชาติที่มีไม่มากนัก แต่สิ่งที่ยังต้องพัฒนาปรับปรุงหากเทียบกับพื้นที่ในโรงแรมคือ การบริการครบวงจร ตั้งแต่เครื่องเสียง สถานที่ อาหาร ที่จอดรถ และคอนเซ็ปต์งาน รวมถึงประชาสัมพันธ์

“ในสวนมีแต่พื้นที่เปล่า อาจจะมีน้ำชา กาแฟ บริการบ้าง แต่เรายังอ่อนประชาสัมพันธ์ที่ให้ภาคธุรกิจรับรู้ เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการ” เธอเล่าถึงประสบการณ์การบริหารจัดการที่ดินกลางกรุงในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก

ปัจจุบันรายได้จากการเช่าพื้นที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีเพียง 1-2 กิจกรรมต่อเดือน เธอตั้งเป้าหมายว่า หากการเช่าพื้นที่มีความถี่ 4-5 กิจกรรมต่อเดือน ก็จะมีรายได้เพียงพอมาพัฒนาปรับปรุงและขยับขยายสร้างโอกาสเติบโตและเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาคมากนัก

“ปัจจุบันรายได้หลักมาจากเงินบริจาค รายได้จากร้านกาแฟหน้าสวน ซึ่งเริ่มต้นเปิดเพียงแค่บริการคนที่เข้ามาในสวน แต่กลับเป็นรายได้หลัก วันมีกิจกรรม และวันเสาร์อาทิตย์จะขายดีมากขึ้น 3- 4 เท่าตัว” ผู้จัดการโครงการเล่า

ส่วนรายได้ในอนาคต กำลังพัฒนาพื้นที่กิจกรรมรองรับโครงการยูพลัส การศึกษานอกระบบ ที่แนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังกำลังพัฒนาเว็บไซต์เป็นตัวกลางสื่อสารกับผู้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งอาจจะเป็นรายได้เสริมในอนาคตอีกทาง

ขณะที่ความตั้งใจของมูลนิธิกระจกเงา คือ อยากให้สวนนี้เป็นหน้าบ้าน สำหรับรับบริจาค และทำกิจกรรม เป็นอีกหนึ่งออฟฟิศหลักของมูนิธิกระจกเงา ตามหลักการทำธุรกิจเพื่อสังคม (SE-Social Enterprise)

“มูลนิธิมีจุดเด่นเรื่องอาสาสมัคร และศูนย์รับบริจาคของเหลือใช้ให้มีมูลค่าอยู่แล้ว ตามหลักการ SE เรารับมาแล้วส่งต่อให้คนอื่น 30% และอีก 70% ไปสร้างมูลค่าหารายได้เข้ามูลนิธิ ประกอบด้วย เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ และ หนังสือ”

ส่วนเป้าหมายระยะยาวหวังว่า สวนเขียวแห่งนี้จะเป็นที่ดินผืนงามไม่กี่แห่งกลางใจเมือง ที่สร้างมูลค่าและคุณค่าทางจิตใจต่อสังคมที่ประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อสะสมเงินทุนไว้ระดับหนึ่ง เพียงพอที่จะทำโรงละคร ก็ทำให้ภาพของพื้นที่เกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของครูองุ่น อย่างแท้จริง