วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (6 ก.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (6 ก.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบดิ่งกว่า 1% หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด

- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

+ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่ออุปทานน้ำมันที่เพิ่มขึ้น หลังอิหร่านออกมาขู่ว่าจะขัดขวางการขนส่งน้ำมันดิบ โดยจะทำการปิดช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นทางผ่านที่สำคัญในการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศในตะวันออกกลางและคิดเป็นกว่าร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดของโลก หากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรยังคงยืนกรานที่จะคว่ำบาตรอิหร่านและลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลง

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสยังได้รับแรงหนุนต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอคลาโฮมา ที่ปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 57 ที่ระดับ 28.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหยุดดำเนินการผลิตของแหล่ง Syncrude ประเทศแคนาดา ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 360,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่อยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคและการส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 สัปดาห์

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 76-81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง และล่าสุดแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ประกอบกับ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ซึ่งมีกำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวจากเหตุไฟฟ้าขัดข้อง
  • จับตาความเคลื่อนไหวของชาติต่างๆ ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน หลังสหรัฐฯ ประกาศให้ทุกประเทศหยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 61 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันอิหร่านผลิตน้ำมันดิบที่ราว 3.7-3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหลังการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ปริมาณน้ำมันดิบในส่งดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ
  • ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคเดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่านที่ปริมาณการผลิตและส่งออกคาดจะปรับลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ซึ่งล่าสุด ซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตไปอยู่ที่ระดับ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมิ.ย. 61

--------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999