ดัชนีเชื่อมั่นภาคใต้มิ.ย.ลด ผลกระทบราคายาง-ปาล์มตกต่ำ

ดัชนีเชื่อมั่นภาคใต้มิ.ย.ลด ผลกระทบราคายาง-ปาล์มตกต่ำ

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านสังคมของประชาชนภาคใต้เดือนมิ.ย.ลดลง ผลกระทบราคาพืชผลการเกษตรลดลง ธปท.ภาคใต้เผยตัวเลขหนี้ครับเรือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ กำลังซื้อในพื้นที่ลดลง

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนมิถุนายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคมมีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความมั่นคงในอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด เสถียรภาพทางการเมือง และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากประชาชนมีความกังวลในรายได้ที่ลดลงจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กังวลต่อรายได้ที่อาจจะไม่พอกับรายจ่าย รวมทั้งการแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีความเชื่อมั่นลดลง

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 24.10 และ 25.40 ตามลำดับ นอกจากนี้การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 41.30 และ 43.20

และปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 31.50 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 27.40

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของนางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ กล่าวในงานสัมมนา “อนาคตเศรษฐกิจไทยในยุคนวัตกรรม” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ. วิทยาเขตหาดใหญ่) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ก.ค.61 ที่ผ่านมาว่า

เศรษฐกิจของภาคใต้มีสิ่งที่น่ากังวลคือรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา,สวนปาล์ม, ฟาร์มกุ้ง ซึ่งเป็นรายได้หลักประสบกับปัญหาราคาตกต่ำ โดยจะสังเกตได้ว่าเมื่อไหร่ที่ทั้ง 3 อย่างนี้ราคาดี ตรงนี้ก็จะทำให้ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ เพิ่มขึ้นทันที แต่หากราคายางพารา ปาล์ม กุ้ง ไม่ดี จะมีต่อกำลังซื้อทันที

“แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมากสำหรับภาคใต้ในเวลานี้ก็คือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งพบว่าปีนี้ภาคใต้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 170,000 บาท ใขณะที่หนี้ครัวเรือนทั้งประเทศเฉลี่ย 160,000 บาท ภาคใต้ของเรามีหนี้ ครัวเรือนเฉลี่ยมากกว่าทั้งประเทศ” ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ กล่าว