‘กำลังใจ’ทางรอด 13 หมูป่า ‘ว่ายสู่เสรีภาพ’

‘กำลังใจ’ทางรอด 13 หมูป่า ‘ว่ายสู่เสรีภาพ’

ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติแนะ โอกาสที่ 13 หมูป่าจะออกไปจากถ้ำได้ กำลังใจสำคัญกว่าความอึด อย่าสิ้นหวัง ในช่วงที่เจ้าหน้าที่กำลังหาทางนำตัวออกมา ซึ่งอาจกินเวลานับสัปดาห์หรือนับเดือน

นายแอนดรูว์ วัตสัน เจ้าหน้าที่กู้ภัยมากประสบการณ์ ที่เคยช่วยชีวิตคนงานติดน้ำท่วมเหมืองหรือไฟไหม้มาแล้ว กล่าวว่า กำลังใจเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด เด็กๆ และโค้ชรู้แล้วว่า ต้องอยู่ในถ้ำต่อไประหว่างที่เจ้าหน้าที่หาทางช่วย ซึ่งวิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือรอจนกว่าระดับน้ำลด

อีกวิธีคือสอนให้เด็กๆ กล้าดำน้ำด้วยตนเอง ซึ่งนักดำน้ำช่วยชีวิตที่ผ่านการฝึกฝนต้องใช้เวลา 6 ชั่วโมง เพื่อนำทางฝ่ากระแสน้ำขุ่นข้นอันตรายเข้าไปในถ้ำ

“ความไม่แน่นอนว่าจะช่วยพวกเขาออกมาแบบไหน เมื่อใด จะทำให้เด็กๆ เริ่มคิด” นายนีล กรีนเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านความเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนใจ จากคิงส์คอลเลจลอนดอนกล่าว

“เมื่อนักดำน้ำเข้าไปเด็กๆ ก็คิดว่า เขาเข้ามาได้ แล้วทำไมเราออกไปไม่ได้ ตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่อธิบายสภาพแวดล้อมให้ด็กๆ ฟังว่าอย่างไร คุณต้องบอกความจริงกับพวกเขา เพื่อให้เข้าใจว่ากระบวนการนี้ยาก ต้องใช้ความอดทน และต้องอดทนมากๆ ด้วย” วัตสันกล่าวเสริม

ที่ว่าง-สุขอนามัย

ในด้านกายภาพ เบื้องต้นต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรง นายไมค์ ทิปตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบจากสภาพแวดล้อมรุนแรงต่อร่างกายมนุษย์จากมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ กล่าวว่า ทีมฟุตบอลอยู่ในถ้ำได้นานหลายวัน ปัจจัยสำคัญคือออกซิเจน อุณหภูมิที่ร่างกายรับได้ และน้ำดื่ม สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือสุขอนามัย พวกเขาต้องมีวินัยป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดที่จะเป็นภัยคุกคามระดับต่อไป

กล่าวคือเมื่อกลุ่มได้รับประทานอาหารอีกครั้ง จำเป็นต้องมีการสุขาภิบาลที่ปลอดภัย มั่นใจได้ว่าของเสียถูกกำจัดออกไปและไม่กลายเป็นมลพิษปนเปื้อนน้ำดื่ม น้ำที่ท่วมนั้นอาจปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลหรือซากสัตว์อยู่แล้ว

สิ่งที่ต้องห่วงต่อไปคือ “พวกเขามีที่ว่างมากแค่ไหน”

การถูกจำกัดให้ต้องนั่งนิ่งๆ ในที่แคบเป็นเวลานานอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบหรือสูญเสียกล้ามเนื้อ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อและกระดูกมีปัญหาชั่วคราว หากเด็กอ่อนแอลง การว่ายน้ำสู่เสรีภาพก็ยากขึ้น

“นี่เป็นการตัดสินใจที่สำคัญมากๆ จากทางเลือกทั้งหมด การคอยให้น้ำลดจึงปลอดภัยกว่ามาก” วัตสันฟันธง

อยู่หรือว่าย

“เราต้องจำไว้เสมอว่าพวกเขาเป็นเด็ก เมื่อพูดถึงน้ำ น้ำต้องไหล ต้องมีแรงดัน ต้องมีแรงต้าน น้ำไม่ใส และเด็กๆ ก็ไม่มีประสบการณ์ใช้เครื่องมือช่วยหายใจ” แค่ใครสักคนกลัวน้ำก็ส่งผลกระเพื่อมร้ายแรง

นายทิปตันกล่าวเสริมว่า หากเงื่อนไขเอื้อให้กลุ่มต้องอยู่ในถ้ำ ก็ต้องทำให้พวกเขายุ่งๆ เข้าไว้ ใจจดจ่อและคิดบวก ผู้นำที่ดีต้องสามารถเปลี่ยนประสบการณ์ให้เป็น “การผจญภัยเพื่อผจญกับความท้าทาย” เมื่อเด็กๆ ติดต่อกับทางบ้านได้แล้ว พ่อแม่ต้องทำให้เด็กๆ สบายใจ

“ความเครียดของครอบครัวอาจทำลายความเข้มแข็งของลูกได้ง่ายๆ คิดบวกจึงเป็นวิธีการที่สุดที่สุด ที่อาจขจัดความกลัวอย่างได้ผล”

นายฌอง โนเอล ดูเบียส แพทย์และเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือกู้ภัยชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ความสามัคคีช่วยให้ทีมหมูป่าผ่านพ้นสถานการณ์แบบนี้มาได้

“พวกเขาอยู่ด้วยกัน การช่วยเหลือจะทำได้ง่ายถ้ากลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันและมีความหวัง”