เปิดใจเด็กเก่งคะแนนสูงสุด 9 คณะ

เปิดใจเด็กเก่งคะแนนสูงสุด 9 คณะ

ชี้คณะนิเทศฯ ได้เด็กเก่งคะแนนสูงสุดอันดับหนึ่งติดต่อกันมา 3 ปี แจงเป็นอาชีพที่ท้าทาย ไม่มีวันสูญหายแต่เปลี่ยนรูปแบบ ขณะที่เด็กเก่ง ยอมรับทีแคสวุ่นวาย ทำเครียด ฝากทปอ.ปรับเวลาให้เหมาะสม ลดช่วงการคัดเลือกสั้นลง รอนานกดดัน เสียสุขภาพจิต

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.61 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ขอแสดงความยินดีกับเด็กทุกคนที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละคณะ สำหรับปีนี้จะเห็นว่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้คะแนนสูงสุดในรอบการคัดเลือกแอดมิชชั่นกลาง ซึ่งพบว่าคณะนิเทศศาสตร์ ได้รับความนิยมได้คะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่ง ติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว หลายฝ่ายอาจเห็นว่าอาชีพของสื่อสารมวลชนกำลังประสบปัญหา แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าอาชีพนี้จะไม่มีวันสูญหายไป เพียงแต่สื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป จากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีในการรายงานข่าว เทคนิคการเขียน ทักษะของนักสื่อสารมวลชน ต้องมีทักษะด้านสื่อดิจิทัลเพิ่มเข้ามา เข้าใจเทคโนโลยีทุกด้านมากขึ้น เป็นอาชีพที่มีความท้าทายมากขึ้น

ทั้งนี้ มีนักเรียนที่ได้คะแนนโดดเด่น จำนวน 9 ราย โดยผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1 ได้แก่ น.ส.ชญานิษฐ์ ศรีวิโรจน์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กรุงเทพฯ สอบได้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 91.29 ส่วนอันดับที่ 2 นายวิศรุต กองสุข โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว จ.สมุทรปราการ สอบได้คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ด้วยคะแนน 87.19 อันดับที่ 3 น.ส.ชุติกาญจน์ กวีวรญาณ โรงเรียนราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร สอบได้ คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาปกครอง จุฬาฯ ด้วยคะแนน 85.85 อันดับที่ 4 น.ส.ฐิตาภรณ์ ชูโต โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กรุงเทพฯ สอบได้ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ด้วยคะแนน 85.63 อันดับที่ 5 นายชญาพงศ์ สุวรรณชาติ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี สอบได้ คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล ด้วยคะแนน 84.64 อันดับที่ 6 น.ส.นิธินันท์ ลีธนะกุล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม สอบได้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 84.22 อันดับที่ 7 นายโสภณ โพธิรัชต์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ สอบได้ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 83.91 อันดับที่ 8 น.ส.ปณิดา เพชรไพรินทร์ โรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น สอบได้ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ม.เกษตรศาสตร์ ด้วยคะแนน 82.80 และอันดับที่ 9 นายชัชพล พงษ์เย็น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ปทุมธานี สอบได้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 82.48

น.ส.ชญานิษฐ์ กล่าวว่า ทันทีที่ทราบว่าสอบติดแอดมิชชั่นส์ กล่าวว่าเมื่อรู้ว่าสอบติดและได้คะแนนสูงสุด รู้สึกดีใจมาก ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ เป็นหมอทั้งคู่ แต่ไม่ได้บังคับให้เรียนแพทย์ ให้เรียนสิ่งที่มีความสุขเพื่อจะได้ทำให้ดีที่สุด สำหรับการรับสมัครทีแคสปีนี้ยอมรับว่า ค่อนข้างวุ่นวาย มีหลายรอบและตารางเวลาค่อนข้างสับสน ที่เลือกสอบรอบแอดมิชชั่นรอบเดียว เพราะคิดว่า คะแนนสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือแกต และวิชาความถนัดทางวิชาการ/และวิชาชีพ หรือแพตไม่สูงมากนัก จึงคิดว่าหากเลือกสอบรอบที่1-3 อาจจะไม่ติดและทำให้เกิดความเครียด ดังนั้น อยากให้ทปอ.ปรับเวลาเพื่อไม่ให้เด็กไม่ต้องรอนาน ทำให้เสียสุขภาพจิต

นายวิศรุต กล่าวว่าเมื่อได้ศึกษาเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือก ทำให้สนใจเลือกคณะจิตวิทยา และเตรียมตัวอ่านหนังสืออย่างจริงจังในช่วง 3 เดือนก่อนสอบ โดยที่เลือกเรียนคณะจิตวิทยา เพราะได้ศึกษาพฤติกรรมของคน สำหรับระบบทีแคส ปี 2561 นี้ ต้องยอมรับว่ามีความเครียดพอสมควร เพราะจากที่ได้มีการหารือกับรุ่นพี่เรียนอยู่ในคณะดังกล่าว ก็ประมาณแล้วว่าคะแนนน่าจะอยู่ในระดับที่สามารถสอบติดในรอบที่ 3 รับตรงร่วมกันได้ แต่ปรากฎว่าสอบไม่ติดทั้ง รอบ 3/1 และ 3/2 จึงมาเลือกคณะดังกล่าวอีกครั้งในรอบที่ 4 แอดมิชชั่น ซึ่งโชคดีที่ผู้ปกครองเข้าใจแล้วไม่ได้กดดัน จึงอยากให้ทปอ.ปรับระยะเวลาในแต่ละรอบเพราะยาวนานมากจนเด็กรู้สึกเครียด

น.ส.ชุติกาญจน์ กล่าวว่า เรียนวิทย์-คณิตแต่มารู้ว่าความจริงตัวเองชอบวิชาสังคมและสนใจข่าวสารบ้านเมือง จึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครองเพราะเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ เคล็ดลับในการเรียน เน้นเรียนในห้องและไปเรียนกวดวิชาเหมือนเด็กทั่วไป ส่วนระบบทีแคส เป็นความพยายามของ ทปอ.ที่จะแก้ไขปัญหาของระบบที่ผ่านมา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยสิ่งที่อยากจะขอให้ ทปอ.แก้ไขคือเรื่องระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้เด็กและผู้ปกครองรู้สึกกดดัน

น.ส.ฐิตาภรณ์ กล่าวว่าชอบเกี่ยวกับภาพยนตร์ แม้จะมีความกังวลบ้างเกี่ยวกับอนาคตของอาชีพด้านสื่อสารมวลชน และตั้งใจจะเรียนให้ดีที่สุด ที่ผ่านมมสมัครทีแคสรอบ 3 เช่นกัน แต่ไม่ได้คณะที่ชอบ จึงสมัครในรอบที่ 4 แอดมิชชั่นกลาง ซึ่งระหว่างรอก็รู้สึกเครียด เพราะเพื่อนๆ ในโรงเรียนมีที่เรียนกันหมดแล้ว ส่วนตัวเห็นว่าอยากให้ผู้เกี่ยวข้องปรับปรุบโดยลดช่วงการคัดเลือกในสั้นลงกว่านี้ เพราะกว่าคัดเลือกเสร็จใช้เวลาหลายเดือน และใกล้เปิดภาคเรียนยิ่งทำให้เด็กเครียด และรอบที่ 3 รับตรงร่วมกันอยากมีการเลือกแบบเรียงลำดับ และประกาศเพียง 1 คณะ

นายชญาพงศ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะตั้งใจเลือกเรียนศิลปศาสตร์ เนื่องจากชอบเรียนภาษา ไม่ชอบเรียนสายวิทยาศาสตร์ ส่วนอนาคตยังไม่ได้คิดว่าจะทำอาชีพอะไร ตอนนี้คิดเพียงแต่อยากเรียนภาษา ชอบภาษาอังกฤษ ส่วนปัญหาทีแคสที่เกิดขึ้นในปีนี้นั้น ส่วนตัวไม่ได้สนใจอะไรมาก จึงไม่ทราบรายละเอียด

น.ส.นิธินันท์ กล่าวว่า เลือกนิติศาสตร์ จุฬาฯ เพราะคุณพ่อจบคณะนี้ ส่วนอนาคตยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอาชีพอะไร แต่คิดว่า การเรียนกฎหมายเป็นสิ่งที่ดี สามารถนำไปใช้ในการช่วยเหลือคนได้ ทั้งนี้ส่วนตัวเรียนไม่ค่อยเก่ง เกรดเฉลี่ยเพียง 3.5 แต่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ดีทีสุด ส่วนตัวเป็นเด็กซิ่ว เพราะจบม.6 มา 3 ปีแล้ว แต่ไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ไปเรียนภาษาจีนโดยเฉพาะ และเพิ่งมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ยอมรับว่าระบบทีแคสปีนี้ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานานเกินไป ส่วนตัวอยากให้ทดลองระบบก่อนนำมาใช้จริง ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วมาตามแก้ อนาคตเด็กไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ

นายโสภณ กล่าวว่า ไม่ได้มีเทคนิคอะไรมากแค่พยายามตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ดีที่สุด ซึ่งคิดว่าไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของตัวเอง ขอให้ทำทุกอย่างเต็มที่ ซึ่งการประสบความสำเร็จครั้งนี้มาจากการเตรียมความพร้อมที่ดีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนอ่านหนังสือ การวางแผนเตรียมทำข้อสอบ การทำโจทย์ต่างๆ และที่สำคัญการวางแผนการสอบ

น.ส.ปณิดา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้สึกว่ามีความสนใจทางภาษามาก จึงเลือกตัดสินใจแอดมิชชั่นอีกครั้ง ในปีการศึกษา 2561 โดยเลือกสอบความถนัดทั่วไปหรือแกต และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือแพต ปีการศึกษา 2561 ซึ่งยอมรับว่าเครียดเหมือนกันและต้องเตรียมตัวอย่างดี เนื่องจากมีโอกาสสอบแค่ 1 ครั้ง สำหรับการเตรียมตัวการสอบ ฝึกทำโจทย์วิชาภาษาอังกฤษ และดูคะแนนว่ายังอ่อนในเรื่องใด จากนั้นซื้อหนังสือมาศึกษาอย่างจริงจัง โดยระบบใหม่เป็นความพยายามแก้ปัญหาที่มีอยู่ แต่กลับสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม

ตบท้ายด้วย นายชัชพล กล่าวว่า เคล็ดลับการเรียน จะเริ่มอ่านหนังสือเรียนและศึกษาเรื่องระดับพื้นฐาน รวมถึงตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้เข้าใจก่อน จากนั้น เริ่มทำโจทย์และทำแนวข้อสอบ อีกทั้งยังมีการเรียนพิเศษในวิชาวิทยาศาสตร์บ้าง อีกทั้งการที่เลือกเรียนในคณะวิศวะฯ เนื่องจาก ชอบและถนัดการคำนวณ ยอมรับว่าทีแคส ปี 2561 ทำให้เครียด เพราะสอบไม่ติดในรอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน แต่ก็ดีใจที่ติดในรอบ 4 แอดมิชชั่น