กรมชลฯวางแผนสูบน้ำออกจากพื้นที่เกษตรรับน้ำถ้ำหลวง

กรมชลฯวางแผนสูบน้ำออกจากพื้นที่เกษตรรับน้ำถ้ำหลวง

กรมชลฯ วางแผนสูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร หลังพบ 13 นักบอลติดถ้ำหลวงแล้ว

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา (2 ก.ค. 61) ทีมหน่วยซีล ได้ประสบความสำเร็จในการค้นหา 13 ชีวิตนักฟุตบอลและโค้ช ที่หายเข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พบว่าทุกคนยังมีชีวิตอยู่ มีสติและแข็งแรงดี ขณะนี้อยู่ในระหว่างปฏิบัติการนำทั้ง 13 ชีวิต ออกมาจากถ้ำสู่โลกภายนอกโดยเร็วที่สุด สร้างความดีใจให้กับพ่อแม่พี่น้อง และคนไทยทั้งประเทศที่รอคอยข่าวดีอย่างใจจดใจจ่อ

ปัจจุบัน (3 ก.ค. 61) กรมชลประทาน ยังคงบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสูบน้ำออกจากถ้ำหลวง เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย หน่วยซีล พร้อมหน่วยแพทย์ สามารถนำอาหารและยารักษาโรค พร้อมกับนำทั้ง 13 ชีวิต ออกมาจากถ้ำหลวงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจากการตรวจสอบไปยังพื้นที่พบว่าระดับน้ำในถ้ำหลวง ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของกรมชลประทาน ยังคงพยายามสำรวจเส้นทางน้ำที่คาดว่าจะไหลลงสู่ถ้ำหลวง เพื่อจะได้สกัดกั้นไม่ให้น้ำไหลลงไปเพิ่มเติม รวมถึงทางเบี่ยงน้ำ หรือ Bypass น้ำ ที่ได้ทำไว้ยังคงทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ

สำหรับพื้นที่การเกษตรที่มีน้ำท่วมขังที่นา ในพื้นที่บ้านสันปู่เลย จำนวน 458 ไร่ และบ้านหนองอ้อ จำนวน 300 ไร่ เนื่องจากต้องรับน้ำที่ระบายออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และพื้นที่โดยรอบวนอุทยานขุนน้ำนางนอนตลอดหลายวันที่ผ่านมา นั้น กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันวางแผนเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร โดยในวันนี้ (3 ก.ค. 61) ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว 1 เครื่องของกรมชลประทาน เพื่อสูบระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ให้ระบายลงสู่ลำน้ำจ้อง ลำน้ำมะ ลำน้ำลวก ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงรายตามลำดับ ซึ่งต้องขอยกความดีความชอบให้กับชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ที่ยินยอมพร้อมใจกันให้น้ำที่ระบายออกมาจากถ้ำหลวง และหนองน้ำพุ ให้ไหลเข้าไปท่วมพื้นที่การเกษตรของตนได้ ส่งผลให้การปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตนักฟุตบอลที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะให้การช่วยเหลือและชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่เสียสละเหล่านี้ ตามระเบียบต่อไป

ในส่วนของการสำรวจด้านธรณีวิทยา ทีมเทคนิควิศวกรรมธรณี วิศวกรรมปฐพีกลศาสตร์ ทีมธรณีฟิสิกส์ ของกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรธรณี ยังคงเข้าพื้นบ้านผาหมี เพื่อดูแลงานป้องกันน้ำที่อาจจะไหลเข้าสู่ถ้ำหลวงได้อีก พร้อมกันนี้ ยังมีทีมสนับสนุนชุดปฏิบัติการเกี่ยวกับการลด/รักษาระดับน้ำ การสนับสนุนข้อมูลแผนที่ดิจิตอล หน่วยสำรวจทำแผนที่ทางพื้นดิน และอื่นๆ ยังคงเตรียมพร้อมอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ