แบงก์ชาตินำธนบัตรใหม่มาใช้ 28 ก.ค.นี้

แบงก์ชาตินำธนบัตรใหม่มาใช้ 28 ก.ค.นี้

"แบงก์ชาติ" ออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ ชนิดราคา 500 บาท และ1,000 บาท ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในหลวงรัชกาลที่ 10 วันที่ 28 ก.ค.นี้ เผยนำเทคโลยีป้องกันการปลอมแปลงแบบพิเศษมาใช้เป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.61 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะออกใช้ธนบัตร แบบใหม่แบบ 17 ชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ 28 ก.ค.ม 2561 ตามที่ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้จัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป

ด้านหน้าของธนบัตรทุกชนิดราคา เชิญพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ เป็นภาพประธาน ด้านหลังของธนบัตรแต่ละชนิดราคา เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ เรียงตามลำดับรัชกาล พร้อมภาพประกอบที่เป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ โดยชนิดราคา 500 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และชนิดราคา 1000 บาท แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช คู่กับพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ทั้งนี้ ธนบัตรทั้งสองชนิดราคานี้ ได้นำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงแบบพิเศษมาใช้ ดังนี้ 1.ลายประดิษฐ์ พิมพ์ด้วยเทคโนโลยีหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ ทำให้เกิดลวดลายสามมิติเคลื่อนไหวเมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมอง และเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียวได้ 2. แถบสีที่ฝังในเนื้อกระดาษจะมีบางส่วนปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนสี และเห็นรูปเคลื่อนไหว 3. ลายประดิษฐ์ ที่เรียงกันในแนวตั้ง ใกล้กับบริเวณลายน้ำ พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสีเหลือบเหลือง

สำหรับลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอื่น ๆ ของธนบัตรยังคงไว้เช่นเดิม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเบิกถอนธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท แบบใหม่ ได้ตามช่องทางปกติ ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนบัตรทุกแบบที่ออกใช้ก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย