ศธ.พบคสช.-กฤษฎีกาแจงเหตุผลขอแก้คำสั่ง 3 ก.ค.นี้

ศธ.พบคสช.-กฤษฎีกาแจงเหตุผลขอแก้คำสั่ง 3 ก.ค.นี้

“ธีระเกียรติ” เผย 3 ก.ค.เข้าพบ คสช.-กฤษฎีกา ชี้แจงเหตุผลการขอแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่เสนอไปทั้งคำสั่งเรื่องอำนาจหน้าที่ศธจ.และสพท.-เปิดช่องตั้งกรรมมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภา รวมทั้งเสนอขอแก้ไขลดจำนวน ศธภ.จาก 18 ภาคเหลือแค่ 6 ภาค

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.61 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเข้าชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นตามที่ได้เสนอขอให้แก้ไขคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายคำสั่งไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากขณะนี้ คสช.และคณะกรรมการกฤษฎีกา ดูรายละเอียด ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว จึงได้เชิญทางศธ. เข้าไปชี้แจงเพิ่มเติมก่อนที่ต้องปรับแก้คำสั่งดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. จะลงนามประกาศใช้ ส่วนจะประกาศใช้เมื่อไรนั้นบอกไม่ได้ เป็นอำนาจของหัวหน้า คสช.

ทั้งนี้ คำสั่ง คสช.ที่ ศธ.เสนอขอแก้ไข คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เกิดจากข้อที่ 13 ซึ่งเดิมกำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัด และกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมที่เป็นอำนาจของผู้อำนวยการการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน

โดยแก้ไขให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ 2 คณะ คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา และคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มี ศธจ.เป็นเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมีผู้อำนวยการ สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สพท.เป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) ตามที่ กศจ.อนุมัติ ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(4) ตามที่ กศจ.อนุมัติ ส่วน ศธจ.ทำหน้าที่เลขานุการ กศจ.

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันเสนอ แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2558 ที่ให้มีการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)และผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ตั้งแต่เมื่อปลายปี2560 ที่ผ่านมา โดยจะขอให้แก้ไขในประเด็นคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ที่ต้องยุติการปฏิบัติงานไปโดยอัตโนมัติตามคำสั่ง คสช.ทำให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ไม่มี กมว.ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้ และตามกฎหมายประธาน กมว. ต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุรุสภา ดังนั้น จึงต้องหาทางออก เพื่อให้ สามารถตั้งกมว.ขึ้นมาเพื่อทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช.

“การเสนอปรับแก้คำสั่งคสช. เพื่อให้งานต่าง ๆ เดินไปได้ และเรื่องสำคัญ ที่ผมจะเสนอด้วย คือ ขอลดศึกษาธิการภาค (ศธภ.) จาก 18 ตำแหน่ง เหลือ 6 ตำแหน่ง เพราะศธภ. เป็นข้าราชการระดับ 10 มีความซ้ำซ้อน มีทั้งรถประจำตำแหน่ง และมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งมีความซ้ำซ้อน ขณะเดียวกันให้สอดคล้องกับกลุ่มการปกครองของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งหมด 6 ภาค ซึ่งการเสนอลดศธภ. ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อไปเพิ่มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอมาให้ผมพิจารณา ผมมีนโยบายชัดเจน ไม่ว่าจะเพิ่มสพม. หรือเพิ่มหน่วยงานใด ข้อสำคัญคือต้องไม่เพิ่มงบประมาณ และต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ ส่วน ศธจ. คงไม่สามารถลดได้” นพ.ธีระเกียรติกล่าว