'สมชาย' ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการผลิตสินค้าชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ

'สมชาย' ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการผลิตสินค้าชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ

"สมชาย" ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและศึกษาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม การผลิตสินค้าชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ จ.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและศึกษาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และการผลิตสินค้าชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ โดยมีนายพรเทพ การศัพท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาณุวัฒน์ ตริยางกูรศรี และนายจารุพันธุ์ จารุโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอตุสาหกรรม นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ รองอธิบดีกรมอตุสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายณพพงศ์ ธีระวร คณะทํางานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อํานวยการศูนย์ส่งเสริมอตุสาหกรรมภาคที่ 1 นางจันทรรัตน์ ปิยพัทธไชย์ อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมลงพื้นที่ ณ บ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า บ้านลวงเหนือ เป็นถิ่นอาศัยของชาวไทลื้อ มีลักษณะทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวไทยล้านนาแต่มี "อัตลักษณ์" ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวไทลื้อ คือ ภาษา การแต่งกาย และอาหารการกิน ซึ่งชาวไทลื้อนอกจากความน่าสนใจทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นแล้ว ยังมีองค์ความรู้จากภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่โดดเด่น อาทิ การแกะสลักตุ๊กตาไม้ การทำผลิตภัณฑ์กระดาษสา และการทอผ้าไทลื้อ เป็นต้น

ด้วยทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีอยู่ของตำบลลวงเหนือ ทำให้มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาท่องเที่ยว เยี่ยมชม และมาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเทศบาลตำบลลวงเหนือ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เห็นศักยภาพของชุมชนเมืองหลวงลวงเหนือ ประกอบกับมีกลุ่มวิสาหกิจ ทอผ้า กระดาษสา และตุ๊กตาไม้ จึงเข้าไปเชิญชวนเข้ารับการฝึกอบรมการบริหารจัดการการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับกลุ่ม และได้ร่วมบูรณาการทำงานร่วมกันกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมการท่องเที่ยวและกีฬา และพัฒนาชุมชน โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้เข้ามาส่งเสริมและแนะนำเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ให้มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชน โดยแนะนำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตามมาตรฐานการเรียนรู้ โดยที่ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจาก กิจกรรมพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล อาทิ กระเป๋า รองเท้า จากผ้าซิ่นตาหมาควายหลวง ที่ใส่โทรศัพท์ ถุงสวมกุญแจรูปเสื้อปั๊ดลื้อ สร้อยคอจากฝ้ายมงคล หมวกสานจากก้านมะพร้าวประยุกต์มาจากผ้าเคียนหัว ตุ๊กตาไม้นายโถ เฮือนปอกระดาษสาเป็นต้น