นิด้าโพล เผยปชช.ไม่เชื่อมั่น นโยบายกระตุ้นศก.ครึ่งปีหลัง

นิด้าโพล เผยปชช.ไม่เชื่อมั่น นโยบายกระตุ้นศก.ครึ่งปีหลัง

"นิด้าโพล" เผยปชช.ส่วนใหญ่ 54.88% ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรก "แย่ลง" จากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำรายได้ไม่พอกับรายจ่าย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น“นิด้าโพล”สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย”ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27– 28มิถุนายน2561จากประชาชนที่มีอายุ 18ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยการสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample)ของ“นิด้าโพล”ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาคจากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling)เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง ครึ่งปีที่ผ่านมา(มกราคม – มิถุนายน2561)พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.88ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ลงเพราะ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นรองลงมา ร้อยละ 30.24 ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเท่าเดิม เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลยและร้อยละ 14.88 ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่บางส่วนระบุว่าราคาพืชผลทางการเกษตรมีการขยับตัวสูงขึ้น

ด้านข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายที่อยากให้รัฐบาลนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ45.68 ระบุว่านโยบายรับซื้ออุดหนุนพืชผลทางการเกษตร รองลงมาร้อยละ 42.80 ระบุว่านโยบายควบคุมราคาสินค้า ร้อยละ 19.84 ระบุว่า นโยบายเพิ่มงานเพิ่มอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน และแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 17.44 ระบุว่านโยบายลดอัตราดอกเบี้ยและคงอัตราภาษีร้อยละ 17.04 ระบุว่านโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 12.64 ระบุว่านโยบายมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 11.68 ระบุว่า นโยบายในการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติรวมถึงการจัดการเลือกตั้งร้อยละ 8.80 ระบุว่านโยบายที่สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ร้อยละ 7.28 ระบุว่านโยบายที่ส่งเสริมประสิทธิภาพในการส่งออกของประเทศไทยร้อยละ 5.12 ระบุว่านโยบายพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และร้อยละ 2.88 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ นโยบายการลดราคาน้ำมัน การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และนโยบายต่างๆที่รัฐบาลดำเนินการก็ดีอยู่แล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีนโยบายที่จะนำเสนอ

สำหรับความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.64 ระบุว่าไม่มีความเชื่อมั่นเพราะนโยบายและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ช่วยประชาชนทุกระดับอย่างแท้จริงเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ขณะที่บางส่วนระบุว่าเป็นโครงการที่ไม่ต่อเนื่องและเป็นโครงการระยะสั้น รองลงมา ร้อยละ 38.32 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นเพราะ นโยบายและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือเป็นโครงการที่ดีทำให้หลาย ๆอย่างดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่ามีผู้นำที่ดีและมีความเข้มแข็ง และร้อยละ 5.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเมื่อมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.64 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นต่างชาติจะเข้ามาลงทุนมากขึ้นเนื่องจากมีความมั่นใจต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศได้ดีกว่ารองลงมาร้อยละ 22.40 ระบุว่าเศรษฐกิจของไทยจะเหมือนเดิม เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่แก้ยาก ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาและต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมด้วย ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็เหมือนเดิม ร้อยละ 2.00 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ลง เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และจะไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินการแก้ไขปัญหา และร้อยละ 14.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

image_big_5b383234dee4f