ชู 'สตูลโมเดล' ต้นแบบนวัตกรรมการศึกษา ลดข้อจำกัดบริหารการศึกษา

ชู 'สตูลโมเดล' ต้นแบบนวัตกรรมการศึกษา ลดข้อจำกัดบริหารการศึกษา

นพ.โสภณชี้ "สตูลโมเดล" ต้นแบบนวัตกรรมการศึกษา ลดข้อจำกัดการบริหารการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับจังหวัดสตูล กลุ่มเครือข่ายวงการศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ผลักดันจังหวัดสตูล เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

นายแพทย์​โสภณ ​นภาธร ​ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ ประกาศพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ว่าจังหวัดสตูลมีความพร้อมในบริบทเชิงพื้นที่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข ทำมาหากินอย่างพอเพียงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม องค์ความรู้ที่เกิดจากชุมชนทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่มีความอุดมสมบูรณ์สถานที่สำคัญของชุมชน เช่น สถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะการได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้อุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีโลก หรือ UNESCO Global Geopark ตลอดจนข้อค้นพบสำคัญด้านการศึกษาเชิงพื้นที่

2_30

"ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ จึงเห็นให้จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่นำร่องด้านการพัฒนาพื้นที่ทางการศึกษา โดยการให้อิสระกับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม ได้บริหารจัดการ การเรียนการสอน โดยมีจุดเน้นในการใช้ทุนของจังหวัดสตูลที่สำคัญคือ การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม อุทยานธรณีโลกสตูล และนวัตกรรมการจัดการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัยเป็นรากฐานของการสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคตของพลเมืองที่นี่ ภายใต้ความร่วมมือ ของจังหวัด คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้มีการขยายผลและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพิ่มเติมเป็นต้นแบบของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป..

"กระทรวงฯจึงเชื่อว่า การสร้างกลไกพื้นที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียน เด็ก และชุมชน จะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ Sandbox มีกรอบแนวคิดหลัก คือ (1) มีสภาพการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและแก้ไขระบบ (2) เชื่อมต่อกับระบบการศึกษาปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อครูและนักเรียน และสามารถส่งต่อข้อเสนอแนะทางนโยบายสู่ทั่วประเทศ (3) เปิดให้ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเข้าร่วม เช่น ภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น จังหวัด ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และ (4) รับรองด้วยกฎหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมฯ สามารถลดผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจต่อวงกว้าง ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ บทเรียนที่ได้จาก Sandbox จะเป็นแนวทางที่ใช้การได้เพื่อการปฏิรูปในระดับประเทศต่อไป" ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษากล่าว

นายแพทย์​โสภณ​ กล่าวอีกว่าเพื่อให้การดำเนินงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล บรรลุตามวัตถุประสงค์และเพื่อให้โรงเรียนเกิดความอิสระคล่องตัว จึงจำเป็นต้องประกาศเป็นแนวนโยบาย “สตูลโมเดล” ให้เป็นจังหวัดต้นแบบของการปฏิรูปการศึกษาด้วยการปรับลดข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของระบบบริหารการศึกษาในเบื้องต้นดังต่อไปนี้ คือ

  1. การประกาศให้จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้มีการบูรณาการ ประสานงานในระดับจังหวัด ในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานให้มีการดำเนินงานสนับสนุน
  2. การลดข้อจำกัดของโรงเรียน เพื่อให้ครูมีเวลาอยู่กับนักเรียนมากขึ้น ดังเช่น งานด้านเอกสาร ที่ยุ่งยากซับซ้อน และภาระงานที่ไม่จำเป็นให้ลดน้อยลงให้ได้
  3. การให้อิสระกับโรงเรียนในการบริหารงานด้านการบริหารวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารงานงบประมาณ และการบริหารงานทั่วไป

 ทั้งนี้ การลดข้อจำกัดเชิงโครงสร้างดังกล่าว เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเบื้องต้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเริ่มดำเนินงานในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล และหากระหว่างการดำเนินงานเกิดปัจจัยใดที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการขับเคลื่อนงาน กระผมยินดีให้ความช่วยเหลือตามข้อเสนอของผู้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษามีแนวยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางล่างสู่บนประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริงต่อไป