3 เมืองใหญ่คนไร้บ้านกว่า 1,300 คน เปิดศูนย์ฯ รองรับ

3 เมืองใหญ่คนไร้บ้านกว่า 1,300 คน เปิดศูนย์ฯ รองรับ

3 เมืองใหญ่มีคนไร้บ้านกว่า 1,300 คน เฉพาะเชียงใหม่เดิมกว่า 160 คน ล่าสุดลดเหลือ 75 คน เปิดศูนย์ฟื้นฟูฯแห่งแรกในภูมิภาค รองรับเป็นที่อยู่-พัฒนาศักยภาพ หวังตั้งหลักชีวิต กลับสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.61 พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ว่า จากการสำรวจข้อมูลคนไร้บ้าน โดยเครือข่ายกลุ่มคนไร้บ้าน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และมูลนิธีพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) พบว่าปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จากผลการสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านใน 3 เมืองหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และขอนแก่น พบจำนวนคนไร้บ้าน 1,395 คน โดยจ.เชียงใหม่มีกลุ่มคนไร้บ้าน จำนวน 166 คน

ซึ่งมีการแก้ไขปัญหา โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานภาคเหนือ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของพัฒนาศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิตในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคม สร้างความมั่นใจ และสร้างวินัยของกลุ่มคนไร้บ้าน ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ 1.การออมทรัพย์ โดยสมาชิกจะออมทรัพย์ขั้นต่ำเดือนละ 50 บาท เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือในยามจำเป็นเดือดร้อน 2.การจัดตั้งกองทุนอาชีพ เพื่อให้สมาชิกได้กู้เงินไปลงทุนประกอบอาชีพ โดยสมาชิกจะร่วมกันกำหนดระเบียบการกู้ยืม 3. การดูแลสุขภาพอนามัยเบื้องต้น โดยการจัดยาสำหรับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นประจำจุดต่างๆ รวมถึงการนำสมาชิกที่มีการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงส่งโรงพยาบาล อีกทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มอาชีพของเก่า อาชีพเกษตร การทำแปลงเกษตร การปลูกผักสวนครัว และการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน จำกัด คนไร้บ้านในการรับงานต่างๆ เช่น การตัดแต่งต้นไม้ ขนย้ายของ ก่อสร้างบ้าน

“คนไร้บ้านมีความต้องการพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องการเป็นภาระกับรัฐ จึงมีการประสานความร่วมมือในการทำงานกับหน่วยงานท้องถิ่นและภาคี ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกหน่วยงานในระดับจังหวัด ส่งผลให้เกิดรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาคน ไร้บ้าน สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ รวมถึงสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี โดยศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นพื้นที่เปิดเพื่อการพัฒนา และเรียนรู้สำหรับทุกคน ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปที่มีต่อคนไร้บ้าน อีกทั้งเกิดการรับรู้และยอมรับว่า คนไร้บ้านเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันอย่างไม่แปลกแยก” พล.อ.อนันตพรกล่าว

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบว่ามีคนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จำนวน 75 คนซึ่งลดลงจากเดิมราว160 คน สะท้อนว่าการทำงานในเรื่องนี้เกิดผลที่น่าพอใจ แม้จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร แต่ก็มีสภาพปัญหาทั้งในทางคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ย่ำแย่กว่าคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร เช่น คนไร้บ้านเชียงใหม่ติดสุราสูงถึง 64 % ขณะที่คนทั่วไปมีสัดส่วนประมาณ30 % คนไร้บ้านเชียงใหม่สูบบุหรี่สูงถึง62 % ขณะที่คนทั่วไปที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีสัดส่วนอยู่ที่ 18 % คนไร้บ้านเชียงใหม่กว่า 70% เป็นโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระเพาะ โรคมะเร็งปอด เป็นต้น

495390

นอกจากนี้ พบว่าคนไร้บ้านเชียงใหม่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงประมาณ10-20 % ของคนไร้บ้านรวมในแต่ละปี สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดมาจากโรคปอดและการติดเชื้อทางเดินหายใจ สะท้อนให้เห็นว่าการอาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นความเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญ ทั้งนี้ คนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงทางสุขภาพที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ที่ต้องสนับสนุนทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการฟื้นฟูสุขภาวะให้สามารถตั้งหลักชีวิตด้วยตนเอง และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจ.เชียงใหม่ เป็น 1 ใน 3 พื้นที่นำร่องการดำเนินงานสำคัญของ สสส. และภาคีเครือข่าย

นางภรณี กล่าวอีกว่า สสส.หนุนเสริมศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เกิดการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมอื่นๆ ในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ทางวิชาการทั้งในเชิงข้อมูลเชิงประชากรและโมเดลการดูแลฟื้นฟูและเสริมศักยภาพคนไร้บ้านทั้งทางด้านสุขภาพ และอาชีพที่ต้องมีความเหมาะสมกับระยะของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน คนไร้บ้านหน้าใหม่ และคนไร้บ้านถาวร เนื่องจากคนไร้บ้านในแต่ละช่วงมีลักษณะทางประชากรและระดับปัญหาทางสุขภาพที่แตกต่างกัน เช่น การชักชวนให้คนไร้บ้านที่ติดเหล้าติดบุหรี่ มาทดลองทำแปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งพบว่าทำให้คนไร้บ้านลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ได้ในที่สุด นอกจากนี้ผลิตผลที่ปลูกได้ยังนำมาทำอาหารสำหรับตนเอง และแจกจ่ายคนไร้บ้านอื่นๆ ที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ ที่เหลือยังขายสร้างรายได้อีกด้วย

อนึ่ง ศูนย์นี้เป็นแห่งแรกในภูมิภาคปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้รับงบประมาณภาครัฐผ่านพอช.ในการจัดซื้อที่ดินและปลูกสร้างอาคาร จำนวน 26.40 ล้านบาท ให้กับสมาคมคนไร้บ้านดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน เนื้อที่ 330 ตารางวา รองรับกลุ่มคนไร้บ้านในที่สาธารณะได้ 50 ราย โดยออกแบบภายใต้แนวคิด “ศูนย์ตั้งหลักชีวิตและศูนย์พัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนร้บ้าน" คิดค่าใช้จ่ายรายวัน 10 บาท(พื้นที่กว้างนอนรวม)ชั่วคราว 350 บาท/เดือน(ม่านมูลี่กั้น)ถาวร 450 บาท/เดือน(ผนังอิฐ ประตูไม้) โดยส่วนที่เกินมา 50 บาทจะเข้ากองทุนสวัสดิการให้แต่ละคนเพื่อที่ว่าเมื่ออยากไปบ้านเองในอนาคต จะมีทุนด้วยและจะมีการดำเนินอีก 2 ศูนย์ที่จ.ขอนแก่นและรังสิต ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการจะแตกต่างกัน