พลาสติก‘อัพไซคลิ่ง’ ขยับสู่บ้านยั่งยืน

พลาสติก‘อัพไซคลิ่ง’ ขยับสู่บ้านยั่งยืน

โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วางแผนอัพไซคลิ่งขยะพลาสติก 60 ตันหรือประมาณ 10 ล้านถุง ให้เป็นขอบถนนคอนกรีตระยะทาง 5 กิโลเมตร ขานรับความเป็นเมืองแห่งความสุขที่ยั่งยืน ตามคอนเซปต์การออกแบบของโครงการ

(ภาพจาก hwww.bltbangkok.com)

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มุ่งหาวิธีการใหม่เพื่อใช้ประโยชน์จากวัสดุแปรรูปจากพลาสติกใช้แล้ว โดยร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์รายใหญ่ ซึ่งจะดูแลจัดหาวัตถุดิบขยะพลาสติก ส่งให้กับ 2 พาร์ทเนอร์คือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้างในรูปแบบคอนกรีตใช้งานภายนอกอาคาร

ขยะพลาสติกมูลค่าสูง

อัพไซคลิ่ง (upcycling) กระบวนการสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้หรือเศษวัสดุเหลือทิ้ง โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สวยงาม แปลกตา สร้างสรรค์และมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ตอบรับตลาดอีโค่ จึงนับเป็นแนวทางที่สำคัญและกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันเทรนด์ของโลกจะเห็นภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เดินหน้าภายใต้หลักเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น ในเรื่องของการบริหารจัดการขยะที่ครอบคลุมการนำกลับมาใช้ใหม่

“เราเป็นผู้ผลิตพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่ยังจำเป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การรณรงค์วิธีใช้พลาสติกอย่างถูกต้องและคุ้มค่า ไม่เป็นภาระให้โลก ในฝั่งผู้ผลิตก็มีการพัฒนากระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ลดการเพิ่มขยะ ในขณะเดียวกันก็เดินหน้าโครงการอัพไซคลิ่งขยะพลาสติกที่เก็บมาจากเกาะเสม็ด 10 ตัน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น กระเป๋าจากเส้นใยพลาสติก เสื้อยืดที่รีไซเคิลจากขวดเพ็ท” วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกิจการองค์กร พีทีทีโกลบอลฯ กล่าว

ด้าน วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแมกโนเลียฯ กล่าวว่า ขยะพลาสติกเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในระดับโลก และเมื่อศึกษาจะพบว่า การนำขยะกลับมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นวัสดุใหม่ หรือนำมาใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ ที่เรียกว่า อัพไซคลิ่ง จะช่วยแก้ปัญหาพลาสติกเหลือทิ้งที่ไทยเผชิญอยู่ ในขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งเหล่านี้

ในช่วงเริ่มต้นวัสดุอัพไซคลิ่งจากขยะพลาสติกจะใช้บริเวณพื้นที่ภายนอกเป็นหลัก เพื่อพิสูจน์ถึงความแข็งแรงและลดความวิตกกังวลของลูกบ้าน จากการหารือและศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษา เห็นพ้องกันว่าควรพัฒนาเป็นคอนกรีตเพื่อใช้ทำขอบถนนโดยนำร่องในโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ และจะขยายการใช้งานไปยังโครงการใหม่ๆ ที่เริ่มก่อสร้างหลังจากนั้น"

“การใช้วัสดุนวัตกรรมเหล่านี้จะมุ่งไปที่กลุ่มสาธารณูปโภคก่อน ส่วนอะไรที่เป็นโครงสร้างหลักที่ต้องรับแรง หรือมีผลต่อความปลอดภัยของอาคารและผู้อยู่อาศัยนั้นยังไม่ใช้วัสดุอัพไซคลิ่งในปัจจุบันนี้ แต่เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถานศึกษาในการเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง สร้างความยั่งยืนและจุดประกายให้อุตสาหกรรมอื่นนำไปประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน” วิสิษฐ์ กล่าว

เติมช่องว่างวัสดุก่อสร้าง

ประชุม คำพุฒ ผู้อำนวยการหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า คอนกรีตโดยทั่วไปมีการผสมเส้นใย ทรายหรือหินขนาดเล็ก ส่วนขยะพลาสติกก็จะถูกนำไปแทนที่วัสดุเหล่านั้นในช่องว่างของคอนกรีตแต่ละก้อน ช่วยทั้งในแง่ของการเสริมแรง ความเหนียวและน้ำหนักที่เบาลง

การใช้พลาสติกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นับว่าเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนที่ถูกลง เพราะไม่ต้องไปหลอมเหลวหรือสรรหาวิธีการแปรรูปพลาสติกเป็นวัสดุใหม่ เพียงแค่ล้างและบดก็สามารถนำมาพัฒนาต่อได้ ทั้งนี้ คอนกรีตจากพลาสติกใช้แล้วจะถูกพัฒนาสูตรที่เหมาะสมและแข็งแรง เพื่อใช้เป็นขอบถนนในโครงการฟอเรสเทียร์ของแมกโนเลียฯ ระยะทางของถนนในโครงการราว 5 กิโลเมตรนั้น คาดจะใช้ขยะพลาสติกกว่า 60 ตัน หรือราว 10 ล้านถุง โดยราคาคอนกรีตอัพไซคลิ่งนี้จะใกล้เคียงกับคอนกรีตทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ขยะพลาสติกและเศษก่อสร้างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการของแมกโนเลียฯ ก็จะเป็นโจทย์ใหม่ให้นักวิจัยนำมาอัพไซคลิ่งเพิ่มมูลค่าต่อไป