ล็อกซเล่ย์บุกไร่ข้าวโพดหวานติดตั้ง IoT Sensors

ล็อกซเล่ย์บุกไร่ข้าวโพดหวานติดตั้ง IoT Sensors

ล็อกซเล่ย์ ลุยสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ชูเทคโนโลยี IoT Sensors หรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ เพื่อการเกษตรแห่งอนาคต ติดตั้งทดลองเก็บข้อมูลในศูนย์เรียนรู้ เคที ฟาร์ม จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่กว่า 25 ไร่

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเกษตรอย่างสูงเช่น พื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากภัยธรรมชาติไม่สามารถให้ผลผลิตได้ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน และการระบาดของแมลงศัตรูพืช ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรลดลง การเกษตรแบบใหม่ในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นการนำความรู้และเทคโนโลยีภาคเกษตรมาประยุกต์ใช้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับ IoT (Internet of Things) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลภาคเกษตรมาวิเคราะห์ใช้ให้เกิดศักยภาพสูงสุด


บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปภายใต้แบรนด์ "KC" ที่นำเทคโนโลยี IoT Sensors หรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ มาทดลองเก็บข้อมูลในศูนย์เรียนรู้ เคที ฟาร์ม (KC Farm) จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่กว่า 25 ไร่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม (Platform) ทางด้านเกษตรดิจิตอลภายใต้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการปลูกข้าวโพดหวานแบบอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทซันสวีท


กาญจน์ ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า การนำเทคโนโลยี IoT Sensors มาใช้กับไร่ข้าวโพดหวานของบริษัทซันสวีทในครั้งนี้จะใช้เวลาทดลอง 3 เดือนเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ อุณหภูมิ แสงแดด แรงลม ปริมาณน้ำฝน ความชื้นในอากาศ และเก็บตัวอย่างแมลงศัตรูพืช นำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลแสดงผลผ่านแดชบอร์ด (Dashboard) พร้อมนำข้อมูลดังกล่าวมาร่วมกันพัฒนาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่เพื่อการวางแผนให้พร้อมรับมือ และแก้ไขปัญหาที่จะเกิดกับไร่ข้าวโพดหวานได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที อาทิ หากอุณหภูมิสูง ดินแห้ง ให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณน้ำ หากตรวจสอบพบว่าจะมีฝนตกหนัก ให้งดการใส่ปุ๋ยเพื่อลดการชะล้างของปุ๋ย นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ยังสามารถคำนวณวันเก็บเกี่ยวผลผลิต อัตราผลตอบแทนโดยประมาณ ความเสี่ยงในการเกิดโรคได้อีกด้วย


ทั้งหมดนี้เป็นก้าวแรกในการเก็บข้อมูลเบื้องต้นนำมาแสดงผลผ่านแดชบอร์ด ซึ่งต้องนำไปรวมกับข้อมูลจากการตรวจวัดอื่นๆ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบสู่แอพพลิเคชั่นการแจ้งข้อมูลด้านการเกษตรแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของเคซี ฟาร์มในอนาคต เพื่อสนับสนุนระบบการปลูกข้าวโพดหวานของเกษตรกรให้ได้คุณภาพสูงสุด นอกจากนี้ IoT Sensors ยังสามารถจัดเก็บข้อมูลที่หลากหลายตามความต้องการของภาคเกษตรอื่นๆ เพื่อนำข้อมูลที่แตกต่างกันมาวิเคราะห์ปรับให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดได้อีกด้วย


ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) มองว่า เทคโนโลยี IOT Sensors จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาททางภาคเกษตรของโครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) สำหรับการปลูกข้าวโพดหวานของบริษัทซันสวีทที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต ลดต้นทุน ลดความสูญเสียของผลผลิตเป็นการยกระดับมาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาพัฒนาการเกษตรตั้งแต่ระดับฟาร์มไปถึงผู้บริโภค ช่วยให้เกษตรกรไทยก้าวสู่ยุคเกษตรกร 4.0 มีชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้ที่ยั่งยืนตลอดไป.