สบส.ห่วงเข้าหน้าฝน ปชช.เสี่ยงไข้หวัดใหญ่

สบส.ห่วงเข้าหน้าฝน ปชช.เสี่ยงไข้หวัดใหญ่

"สบส." แนะปชช.ดูแลสุขพภาตามหลักสุขบัญญัติ 4 ข้อ เน้นความสะอาดเสื้อผ้า-ของกิน-ของใช้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การป้องกันยุงกัด

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงประชาชน ช่วงเข้าฤดูฝน เสี่ยงเกิดโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ ปอดอักเสบ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก แนะประชาชน ดูแลสุขภาพตามหลักสุขบัญญัติ เน้นความสะอาดเสื้อผ้า-ของกิน-ของใช้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการป้องกันยุงกัด

โดย "นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ" รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว ซึ่งในช่วงนี้มีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีอากาศหนาวในช่วงค่ำ  มีโอกาสทำให้ป่วยเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ ซึ่งหากนำเสื้อผ้า ถุงเท้า ที่ไม่สะอาดและอับชื้นมาสวมใส่ จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อนได้

       สบส.ห่วงเข้าหน้าฝน ปชช.เสี่ยงไข้หวัดใหญ่

 

ขณะที่ "นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์" ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กรม สบส. กล่าวว่า ขอแนะให้ประชาชนนำหลักสุขบัญญัติมาใช้ในการปฏิบัติตัวในช่วงฤดูฝน 4 ข้อ ดังนี้

1.ดูแลความสะอาดเสื้อผ้า ถุงเท้า โดยซักและบิดให้หมาดที่สุดก่อนผึ่งให้แห้ง  ถ้ามีแดดให้ตากแดด หมั่นซักผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ส่วนหมอนนำไปตากแดด และสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่อับชื้น เหมาะสมกับสภาพอากาศเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ในผู้สูงอายุและเด็กเล็กจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นควรใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ และระวังอย่าให้ยุงกัด 

 2.รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ทานผักสดแต่ต้องล้างให้สะอาด และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร 

3.ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ 5 วันต่อสัปดาห์ อย่างน้อย 30 นาที จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค 

4.หากเจ็บป่วยเป็นโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ให้หยุดพักอยู่บ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อไอ หรือจาม ใช้ผ้าหรือทิชชูปิดปากและจมูก และหมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่ผู้อื่น

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพผ่านช่องทางต่างๆ ได้ทั้งเว็บไซต์คลังความรู้ด้านสุขภาพ (healthydee.moph.go.th), เฟซบุ๊ก (Facebook), ทวิตเตอร์ (Twitter) และเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) ช่องกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ