สธ.เตรียมขยายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย

สธ.เตรียมขยายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย

สธ.เตรียมขยายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ลงสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ

นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขอยู่ในลำดับต้นๆ  ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย มักมีอาการหอบรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินและนอนรักษาในโรงพยาบาล จากสถิติ-สาธารณสุข ปี 2558 มีผู้ป่วยโรคหืดนอนรักษาในโรงพยาบาล 115,577 คน ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 249,742 คน โดยไทยพบผู้ป่วยโรคหืดประมาณร้อยละ 7  ของประชากร และพบผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกจำนวน 1.5 ล้านคน  คาดว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 5 ป่วยเป็นโรคนี้ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3  ของประชากรโลก

นายแพทย์มรุต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD & Asthma) เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดบริการความเป็นเลิศด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Service Excellence NCDs)มุ่งเน้นการดูแลรักษาแบบองค์รวมในรูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพ  โดย 14 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่ายในโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลเครือข่ายที่มีคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่ายแล้ว 1,415 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่งผลให้ในปี 2554-2557 จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาลลดลงกว่า  ร้อยละ 23 อย่างไรก็ดี แนวโน้มในปี 2558-2560 พบอัตราการกำเริบเฉียบพลันของโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10  ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยในอนาคตอันใกล้นี้ จะส่งเสริมให้สถานบริการสาธารณสุขหรือสมาชิกเครือข่ายที่ทำคลินิกได้มาตรฐานแล้วขยายรูปแบบและแนวทางการรักษาไปสู่ระบบบริการปฐมภูมิหรือ PCC (Primary Care Custer) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่ใกล้บ้านมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้  คลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย เป็นคลินิกที่ง่ายต่อการประเมิน ง่ายต่อการรักษาและได้คุณภาพ ถึงจะไม่มีแพทย์เฉพาะทางก็สามารถทำได้โดยแพทย์ทั่วไป  และผู้ที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐานคลินิกฯ โดยใช้การประเมินโดยซักถามประวัติอาการของโรค  วัดค่าลมจากปอดโดยเครื่องวัดรักษาผู้ป่วยตามแนวทางการรักษาอย่างง่ายที่กำหนด นัดติดตามอาการสม่ำเสมอ สอนเทคนิคการใช้ยาพ่นที่ถูกวิธี ให้ความรู้เรื่องโรคหอบ การประเมินการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เป็นต้น