ย้อนอดีต พินิจวังหน้า

ย้อนอดีต พินิจวังหน้า

หลายคนเคยได้ยินชื่อ วังหน้า แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่า ‘วังหน้า’ คืออะไร คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ชวนคุณๆ ร่วมกันย้อนประวัติศาสตร์และค้นหาสิ่งที่หายไปในยุคปัจจุบันใน นิทรรศการวังน่านิมิต ณ สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

"ใหม่เรียนอยู่เมืองนอกตลอดเลยค่ะ และเพิ่งกลับมาเมืองไทย ตอนเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ ไม่เคยรู้เลยว่า ‘วังหน้า’ คืออะไร ไม่เคยเข้าใจเลยว่าพื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นวังตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ถึงยุครัชกาลที่ 5... 

ใหม่อยากศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เลยมาทำงานที่สำนักสถาปัตย์ กรมศิลป์ (สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร) มีการคุยกันว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีโครงการศึกษาวังหน้า มีการขุดค้น ทำให้ได้ข้อมูลอะไรต่างๆ เยอะ แล้วเราก็คุยกันต่อว่า ถ้าเรารื้อฟื้นโครงการนี้ อาจลงไปในช่องทางเน้นการตีความ เพื่อให้คนเชื่อมระหว่างข้อมูลความรู้ทั้งหมด ในวิธีที่เข้าใจได้ง่าย เป็นสิ่งที่เราพยายามทำโครงการวังหน้า ใช้เวลาเกือบสองปีเพื่อให้เกิดขึ้นมา" คุณใหม่กล่าวในฐานะผู้อำนวยการโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า)

20180611201637306

"ตอนที่เริ่มทำโครงการฯ ใหม่คิดถึงคีย์เวิร์ดหลายคำ Accessibility, Connectivity เพื่อให้เกิดการต่อยอดออกไป เราจะทำอย่างไร ครั้งแรกพยายามใช้คำว่า ‘อนุรักษ์’ ก็ไม่ใช่  เพราะคำว่าอนุรักษ์ หมายถึงสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่เราไม่เห็นกับตา ก็ไม่ใช่ เพราะเป้าหมายของโครงการ เราไม่ได้เน้นเรื่องของสิ่งที่เราจับต้องได้ ข้อมูลที่เรามีทั้งหมดในโครงการ ความรู้ของคนในกรมศิลปากร ต้องส่งต่อไปถึงคน ก็พยายามตอบคำถามเหล่านี้ ว่าเราจะให้วัฒนธรรม มรดกของไทยเรา เป็นอย่างไรในอีก 100 ปี 1,000 ปีข้างหน้า

ในนิทรรศการนี้  มีหลายอย่างที่เป็นประเด็น อยากคุยหน่อยหนึ่งคือ คอนเซปต์ของประวัติศาสตร์ ก็ถามไปตั้งหลายครั้ง ถามเข้าไปในคนของกรมศิลป์ เพื่อนที่ไม่เคยทำงานประวัติศาสตร์ ว่าประวัติศาสตร์ คืออะไร 

ประวัติศาสตร์ก็คือ คอลเลคชั่น  ความทรงจำของเมือง ความทรงจำของแต่ละคน เป็นความรู้สึกของคนกับสถานการณ์ในช่วงนั้น  ความรู้สึกของคนกับสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ละยุคตามเวลา โลกมันก็เปลี่ยนไป วิธีที่คนแสดงตัวตน ก็เปลี่ยนไปตามเวลา โดยที่เขาเห็นสถาปัตยกรรม ศิลปะ การแสดง(performing) วรรณคดี ทั้งหมดเป็นวิธีแสดงตัวตน วิธีแสดงความรู้สึกของคนกับสิ่งที่อยู่แวดล้อม 

การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นทั้งหมด  สถาปัตยกรรมก็เปลี่ยนตามความรู้สึกของคน  เครื่องมือของคนแสดงตัวตนก็เปลี่ยนไป ต้องเข้าใจกันว่าการเปลี่ยนแปลง ว่าเป็นของธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว 

20180611201636920

ดังนั้นนิทรรศการนี้ เราพยายามดึงความรู้สึกของคนในอดีต เพื่อให้คนในปัจจุบันรู้สึก ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร เขารู้สึกยังไงกับความรู้สึกช่วงนั้น เขาจะให้ต่อยอดไปยังไง  เราจะสร้างให้เป็นประสบการณ์อย่างไร มันก็มีวิธีที่อาจจะต้อง Explore หน่อยหนึ่ง" 

ในการทำโครงการฯ ครั้งนี้ คุณใหม่ทำงานร่วมกับ ภัณฑารักษ์ มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทุกคนคุ้นเคยมาสร้างความน่าสนใจและง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลอันซับซ้อน 

"ทางทีมภัณฑารักษ์ เล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ เคยไปหัวลำโพง รู้สึกภูมิใจ มีความทรงจำจากช่วงนั้น แต่ตอนนี้พวกเขาโตแล้ว และรู้สึกว่าเด็กสมัยนี้ถ้ากลับไปในสถานที่นั้น ก็ไม่เหมือนเดิม  แต่อยากแชร์ความทรงจำนี้แก่คนรุ่นใหม่ แล้วจะใช้เครื่องมือแบบไหนล่ะ ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีก็เข้ามาต่อเรื่องราวออกไป ว่าอดีตความเป็นมาคืออะไร

มีวีดีโอที่ทำคล้ายๆ กับกราฟิก เพื่อให้คนเห็นกับตาในสิ่งที่อาจไม่เห็นในแผนที่อีกแล้ว ทำเป็นโมเดลผังของ ‘วังหน้า’ ในยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งเด็กอาจจะสร้างการเชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ของเขาเอง คุยกันเพื่อวิเคราะห์(analyze)กันได้ ทำให้เขาได้ทดลองเพื่อให้รู้ว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะจริงๆ แล้วประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพราะถ้าเราขุดค้นได้ใหม่ เราจะได้ข้อมูล แล้วนำมาขึ้น ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แม้มุมของเราจะแตกต่างกันก็ตาม" 

20180611201729113

คุณใหม่ กล่าวพร้อมกับพาไปชมห้องจัดแสดงนิทรรศการ และอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับชื่อนิทรรศการ 

"ชื่อโครงการ ‘วังน่านิมิต’ คำว่า ‘น่า’ ที่มีไม้เอก คือวิธีสะกดคำแบบเก่า ถ้าย้อนกลับไป เราจะเห็นในพระนิพนธ์ เรื่องตำนานวังน่า (หนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เพื่อสร้างความรู้สึกกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ หรือไม่เคยสังเกตมาก่อน  

ดังนั้นคำว่า ‘วังน่า’ คือ ‘น่าจะ’ ส่วน ‘นิมิต’ เป็นเรื่องสร้างภาพที่คล้ายๆ กับ Visual เพื่อให้คนสมมติว่าได้เข้าไปในพื้นที่ ให้ไปเห็นกับตา นึกไปถึงสิ่งที่ไม่มีแล้ว ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ! ตรงนี้มีอะไร อยากให้คนวิเคราะห์ อยากให้คนจินตนาการนิดหนึ่ง ผ่านเอ็กซิบิชั่นดีไซน์ และกราฟิก"

20180611201636095

จุดเด่นที่น่าสนใจในนิทรรศการ คุณใหม่ นำชมแท่นแสดง Interactive Map พร้อมสาธิตการชมแผนที่ ‘วังหน้า’ ผ่านมุมมองต่างๆ    

“เราหาวิธีดึงเรื่องศิลปะ สถาปัตยกรรม มาทำเป็นภาษาร่วมสมัยหน่อยหนึ่ง เพื่อให้กระตุ้นให้คนเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการ ถ้าเดินในนิทรรศการจะเห็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ซ่อนอยู่ในเรื่องการใช้สี ภาพถ่ายเคลื่อนไหว โดยเรานำฐานข้อมูลจากกูเกิลแม็พ แล้วนำแผนผังสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เราทำเป็นทรีดี(สามมิติ)มาซ้อนกัน เพื่อให้คนเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ละสตรัคเจอร์ย้อนกลับไปว่า เคยอยู่ตรงไหนในอดีต เลยเริ่มต้นที่ ‘พลับพลาสูง’ เมื่อเราวางมือตรงนี้” คุณใหม่พูดพร้อมยกไม้ยกมือ ทำท่าทางประกอบ  

“โครงสร้างนี้อายุไม่ถึง 40 ปี ไม่ได้อยู่ถาวร เราเจอรูปพลับพลาสูง เมื่อสองสามปีที่แล้ว ก็ได้โอกาสทำขึ้นมาใหม่ เราหมุนภาพเพื่อให้เห็นว่า สถาปัตยกรรมไทยมีรายละเอียดมาเลยนะ องค์ต่อมาคือพระที่นั่งคชกรรมประเวศ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อพระอนุชาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระเกียรติเสมอพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2”

จากภาพของ ‘วังหน้า’ ที่เคยกระจัดกระจายตามแหล่งต่างๆ นำมาเรียบเรียงใหม่ ช่วยให้ผู้ชมเห็นอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โรงละครแห่งชาติ, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และพื้นที่บางส่วนด้านทิศเหนือของสนามหลวง 

อาคารและสิ่งก่อสร้างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมู่พระวิมานและ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมถึง พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ในบริเวณสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รวมทั้งยังเข้าใจความหมายงานสถาปัตยกรรมตกแต่งเกี่ยวข้องกับฐานานุศักดิ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมากยิ่งขึ้น ก่อนที่บริบทของ ‘วังหน้า’ จะเปลี่ยนแปลงไป

 

20180611201637190

"ระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ความเป็นเมืองช่วงตอนต้นรัตนโกสินทร์ ทำไมสร้างมาเป็นแบบนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผลทั้งนั้น  มีเหตุผลย้อนไปถึงอยุธยา รวมทั้งพระที่นั่งคชกรรมประเวศ รื้อถอนไปในยุครัชกาลที่ห้า เพราะเสื่อมสภาพ ไม่สามารถซ่อมได้ เหลือแค่ฐานและที่เกยช้างให้เห็นในปัจจุบัน 

รวมทั้งพลับพลาสูงที่ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เรานำภาพที่ได้มาจากเยอรมนี มาทำให้ประวัติศาสตร์ เป็นรูปที่สวยมากเลยค่ะ ทางเยอรมนีทำเป็นวีดิโอโดยทับซ้อนภาพอดีตกับปัจจุบัน เกิดเป็นมิติ เน้นการเปลี่ยนแปลง ว่าตอนนี้ เมื่อก่อน เป็นแบบไหน เคยอยู่ตรงไหนของสนามหลวง"

20180609191018639

มาถึงส่วนที่สำคัญไม่น้อยอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ห้องข้อมูล คุณใหม่ตั้งใจให้เป็นแหล่งกระตุ้นให้คนเข้าไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากที่ชมนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ มีประสบการณ์รับรู้เรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคลมาแล้ว ดังนั้นในห้องดังกล่าว จึงมีการจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรม 

20180611201309358

ไม่ว่าจะเป็นภาพจากหอจดหมายเหตุ ภาพพระที่นั่งศิวโมกขวิมานที่ถ่ายจากสถานที่เดียวกัน แตกต่างกันที่ช่วงเวลา ภาพเดียวกันนี้ยังปรากฏในหนังสือ 20th Century Impression of Siam รวมทั้งหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ‘ตำนานวังน่า’ หนังสือประชุมพงศาวดาร คติความเชื่อการสร้างราชธานี หนังสือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา  ส่งผลมาถึงสมัยกรุงธนบุรีอันเป็นผลสะท้อนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ 

20180611201309644

หนังสือ ‘Bangkok Modern’ เขียนถึงการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องผังเมือง ระบบสาธารณูปโภค หนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ภาพกรุงเทพมหานครในอดีตถึงปัจจุบันที่อาจนำไปสู่การสร้างเครือข่ายทางความคิดต่อไปในวงกว้าง 

20180611201311390

“หลังจากนี้ ข้อมูลในหนังสือ รูปถ่ายเก่า เอกสารที่เกี่ยวกับไทม์ไลน์ของวังหน้า เราจะนำไปดีไซน์เผยแพร่ในเว็บไซต์ในเดือนสิงหาคม โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายคล้ายๆ เหมือนได้กลับบ้าน ซึ่งวังหน้ามีหลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ ความรู้สึกของคนกับสถานการณ์ในยุคหนึ่ง วิธีแสดงตัวตน การจัดนิทรรศการเพียงครั้งเดียวคงไม่พอ ยังมีเรื่องศิลปะ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่เข้าไปดูแล้วสวยมากสามารถเล่าได้อีก โดยจะจัดเป็นนิทรรศการอีกทีตอนสิ้นปี แล้วก็มีการลงพื้นที่จริง เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เน้นสิ่งที่จับต้องไม่ได้  โดยมีอาจารย์สันติ (ศ.สันติ เล็กสุขุม) อาจารย์พีระศรี (ผศ.พีระศรี โพวาทอง) อาจารย์พรธรรม (พรธรรม ธรรมพิมล) เป็นความตั้งใจของกรมศิลป์ ทุกคนอยากให้เด็กรุ่นใหม่ทุกคนต่อยอดความรู้ ไม่ใช่แค่งานอนุรักษ์ ให้เขาได้สัมผัสข้อมูล เมื่อคนสนใจแล้วจะกลับไปค้นคว้าต่อ ว่าความสำคัญ  ‘วังหน้า’ ผังเมืองทั้งหมด ทำไมเราต้องเข้าใจเรื่องนี้และต้องย้อนไปถึงอยุธยา เพื่อเข้าใจความเป็นวังหน้า" คุณใหม่กล่าวทิ้งท้าย