ฏีกายืน 1ปี ไม่รอลงอาญา 'กปปส.' ขวางการเลือกตั้งปี 57

ฏีกายืน 1ปี ไม่รอลงอาญา 'กปปส.' ขวางการเลือกตั้งปี 57

ศาลฏีกาพิพากษายืน จำคุก1ปี ไม่รอลงอาญา “การ์ด กปปส.” ร่วมกันกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ฯ ในปี 57

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีการ์ด กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง หมายเลขดำ อ.886/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "นายนวการ ขอนศรี" และ "นายประเสริฐ ด้วงทิพย์" แนวร่วม กปปส. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถใช้สิทธิได้ฯ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76 , 152 พฤติการณ์ตามฟ้อง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ม.ค.57 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ใช้ชื่อ "กปปส." ขัดขวางปิดประตูทางเข้าออกสำนักงานเขตดินแดง เพื่อไม่ให้สามารถจ่ายหีบบัตรเลือกตั้งให้กับ ผอ.ประจำที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ 6 ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้ง ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิได้ เหตุเกิดที่แขวง-เขตดินแดง กทม. โดยโจทก์ขอให้ศาลสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสอง เป็นเวลา 5 ปีด้วย

โดยจำเลยทั้งสองต่อสู้คดี ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ซึ่งผลการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ได้พิพากษายกฟ้อง แต่ต่อมาชั้นศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 5 ปีด้วย ขณะที่วันนี้ "นายนวการ" จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการประกันตัวชั้นฎีกา เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ โดยนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. ก็ได้เดินทางมาให้กำลังใจด้วย ส่วน "นายประเสริฐ" จำเลยที่ 2 หลบหนีคดี ซึ่งศาลได้ออกหมายจับและปรับนายประกันไปแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของ "ศาลฎีกา" นั้น ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า แม้มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งต้องทำวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การไม่มีเลือกตั้ง 28 เขตจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ในวันที่มีการชุมนุมดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนเรื่องความชอบ-ไม่ชอบดังกล่าว

โดยขณะนั้นยังมีความเห็นขัดแย้งว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ซึ่งกกต.เป็นองค์กรที่มีอำนาจทางกฎหมายในการจัดการเลือกตั้ง ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งยังไม่มีการวินิจฉัยเรื่องความชัดเจนต่อความชอบ-ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าการประกาศเลือกตั้งขณะนั้นดำเนินการโดยชอบแล้วหากมีการเข้าดำเนินการขัดขวางเพื่อไม่ให้มีการลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ย่อมเป็นความผิด ส่วนที่จำเลยทั้งสองชุมนุมหน้าสำนักงานเขตดินแดงอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเหตุการณ์อื่น คดีนี้ผู้ชุมนุมได้ขัดขวางการเลือกตั้งเป็นความไม่สงบ ผิดกฎหมาย ไม่ใช่การชุมนุมโดยชอบ

ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ ล็อคกุญแจโซ่ที่ประตูเพื่อขัดขวางเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้ง แต่ทำหน้าที่เพียงห้ามไม่ให้เกิดเหตุร้าย และจำเลยที่ 2 อ้างว่ามาสังเกตการณ์นั้น คดีมีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รู้จักกับจำเลยทั้งสองและได้ถ่ายภาพไว้ กับพยานเจ้าหน้าที่ กกต. เบิกความว่าไม่สามารถเข้าไปยังสำนักงานเขตได้เนื่องจากมีโซ่คล้องประตูและจำเลยทั้งสองทำหน้าที่เจรจาอยู่หน้าประตูดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ยังถือไมโครโฟนประกาศงดการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งที่จำเลยอ้างนั้นขัดแย้งกับหลักฐานที่ปรากฏ ข้อเท็จจริงคือจำเลยทั้งสองยืนขวางประตูปกป้องไม่ให้ใครเปิดได้ มีพฤติการณ์แสดงออกโดยที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขัดขวางไม่ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิ จนเวลาล่วงเลย 18.00 น. และที่จำเลยอ้างว่า เจ้าหน้าที่สามารถเดินเข้าไปได้นั้น ก็มีผู้ชุมนุมซึ่งมีท่าทีขัดขวางแสดงอาการขึงขัง หากเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่อาจหลีกเลี่ยงเหตุปะทะได้ จึงเป็นการอ้างเลื่อนลอยไม่น่ารับฟัง สำหรับประเด็นฎีกาที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบานั้น "ศาลฎีกา" เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ไม่สำนึก จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนดุลพินิจ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืนให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ "นายประเสริฐ ด้วงทิพย์" นั้น ก็ตกเป็นจำเลยร่วมกลุ่ม พธม. และกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)ที่เคยบุกเข้าไปใน อาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยด้วยเมื่อวันที่ 22 - 26 ส.ค.51 ด้วย ซึ่งคดีดังกล่าวคำพิพากษาของถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาแล้วให้จำคุก 6 เดือน ซึ่งศาลก็ให้ออกหมายจับนายประเสริฐไว้ด้วยเมื่อต้นปี 61 ที่ผ่านมา เพราะไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด ขณะที่คดีหลักในส่วนของแกนนำ กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อต้นปี 2561 รวม 23 คนร่วมกันกบฏและความผิดอื่นรวม 8 ข้อหานั้น ศาลอาญานัดตรวจหลักฐานวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว "นายถาวร เสนเนียม" อดีตแกนนำ กปปส. และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่มาให้กำลังใจแนวร่วม กปปส. ที่ถูกตัดสินจำคุก 1 ปีนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นพลังดูดนักการเมืองด้วยว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองต้องการแสวงหาสมาชิกที่มีโอกาสได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นักการเมืองก็พยายามหาพรรคมีแนวทางอุดมการณ์เดียวกันกับตนเอง เป็นสิทธิ ตนไม่ตำหนิพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ย้ายพรรคหรือตั้งพรรคใหม่ ขอให้กำลังใจกับนักการเมืองทุกท่านที่ยังต่อสู้ตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้กำลังใจพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ ขอให้ยึดมั่นแนวทางระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญคือการยึดหลักนิติธรรม เมื่อจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วได้รับการเลือกตั้ง ใช้เสียงข้างมากในการบริหารประเทศ ขอให้ยึดหลักนิติธรรมนิติรัฐ ถ้าเรายึดหลักนี้และความถูกต้อง บ้านเมืองก็เดินไปข้างหน้าได้ อย่าตื่นตกใจ อย่าเสียใจ อย่าตำหนิใครจากการที่ย้ายพรรค

"หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ของผม ถ้านักการเมืองดี ๆ ที่คาดว่าจะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือมีเราอุดมการณ์เดียวกัน เชิญครับยินดีต้อนรับ แม้ว่าผมไม่ได้เป็นผู้บริหารพรรค แต่ผมอ่านใจคนที่ทำการเมืองมาด้วยกัน ผมอยู่ในวงการเมือง 20 กว่าปี ก็คิดว่าเราทุกคนต้องการสร้างเครือข่าย ต้องการมวลสมาชิกเพิ่ม ต้องการคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันเพิ่ม เมื่อคิดตรงกันมีความสุจริตใจต่อกันและกันก็เรียนเชิญได้ และไม่ตำหนิใคร" นายถาวร กล่าว

เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ประกาศว่าจะไปร่วมพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นการสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ "นายถาวร" กล่าวว่า ทุกคนที่ไม่ขาดคุณสมบัติมีสิทธิเป็นนายกฯ ไม่เว้นแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ หรือใครก็ตาม เมื่อได้รับเสียงข้างมากในการเลือกของรัฐสภา ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ แต่จะบริหารงานได้ดีหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นอย่าไปตื่นตกใจ จะมีใครก็ตามที่ไปหาสมาชิก ถ้าเขาไม่รักกันไม่มีอุดมการณ์ตรงกัน เขาก็ไม่ไปร่วม มีสิทธิทุกคน แต่อย่าใช้วิธีการที่ผิดรัฐธรรมนูญเท่านั้น ขอให้ระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นแล้วบ้านเมืองเราจะถูกรัฐประหารอีก

เมื่อถามว่าแกนนำ กปปส.เคยเรียกร้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แล้วการจะได้ ส.ส.หน้าเดิมจะเกิดการปฏิรูปอย่างไร "นายถาวร" กล่าวว่า เป็นสิทธิของประชาชนที่จะหย่อนบัตรเลือก เราคาดหวังไปในแนวทางหนึ่ง แต่เมื่อพี่น้องประชาชนยังเลือกคนกลุ่มใดที่เราไม่สามารถฝากอนาคตประเทศชาติได้ ก็เป็นสิทธิของประชาชน ต้องเคารพการตัดสินใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดแม้จะเป็นนักการเมืองเก่าหรือคนหน้าเดิม ถ้ามีความคิดที่ทันสมัย ไม่ทำผิดไม่คิดทุจริต ไม่ใช้เสียงข้างมากในทำนองที่อยากจะทำอะไรก็ทำ ตนคิดว่าจะหน้าเก่าหน้าใหม่ จะหนุ่มสาวหรือแก่ก็สามารถพาประเทศชาติได้ ดังนั้นอย่าไปกังวล ประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเอง อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การสื่อสารไปถึงพี่น้องประชาชนขอให้ตรงไปตรงมา พูดในสิ่งที่สร้างสรรค์ ประชาชนเข้าใจ อย่ามอมเมาประชาชนโดยเด็ดขาด