สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์วันที่ 18-22 มิถุนายน 2561

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์วันที่ 18-22 มิถุนายน 2561

“เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือน ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงจากสัปดาห์ก่อน”

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

-  เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (อ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน) โดยการอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ ยังมีแรงหนุนต่อเนื่องจากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุถึงแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนในเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้า ก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง และกดดันสกุลเงินเอเชียในภาพรวมด้วยเช่นกัน 

-  ในวันศุกร์ (22 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.92 เทียบกับ 32.41 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 มิ.ย.)   

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (25-29 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.80-33.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้รายจ่ายส่วนบุคคล และตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี Core PCE Price Index เดือนพ.ค. รวมถึงตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1/2561 (final) 

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

-  ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,634.98 จุด ลดลง 4.10% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มขึ้น 18.34% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 61,671.21 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 439.77 จุด ลดลง 4.75% จากสัปดาห์ก่อน

-  ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงท่ามกลางแรงขายหุ้นขนาดใหญ่เกือบตลอดสัปดาห์ ทั้งหุ้นกลุ่มพลังงาน หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และหุ้นกลุ่มธนาคาร ประกอบกับมีแรงกดดันจากแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนการปรับตัวลงของราคาน้ำมันโลกในช่วงต้น-กลางสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (25-29 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,605 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,660 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ สถานการณ์การตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศ และการทำ Window Dressing ในช่วงปลายไตรมาส 2/2561 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ และรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ตลอดจนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น และดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน