เอฟไฟว์โหมโซลูชั่นแอพองค์กร

เอฟไฟว์โหมโซลูชั่นแอพองค์กร

“เอฟ 5 เน็ตเวิร์ค” เกาะกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น-ภัยไซเบอร์ระบาดหนุนลงทุนไอที เร่งเครื่องตลาดโซลูชั่นบริหารแอพพลิเคชั่น เจาะลูกค้าองค์กร มั่นใจโอกาสสดใส ตั้งเป้าปี 2561 รายได้โตไม่น้อยกว่า 20%

นายวัชระ จิระเจริญสุวรรณ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอฟ 5 เน็ตเวิร์กส์ ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชั่นสำหรับแอพพลิเคชั่นธุรกิจจากสหรัฐ กล่าวว่า ผลวิจัยล่าสุดโดยเอฟไฟว์แลประบุว่า แอพพลิเคชั่นเป็นเป้าหมายแรกที่ถูกทำให้ข้อมูลรั่วไหล ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ปัจจุบัน อาชญากรพัฒนาวิธีการโจมตีให้มีความชาญฉลาดมากขึ้น สามารถโจมตีได้แบบอัตโนมัติผ่านบอทและอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) กล่าวได้ว่าทุกแอพมีโอกาสถูกโจมตีได้ทั้งหมด ไม่เฉพาะเพียงแอพของธนาคาร เป้าหมายมีทั้งหวังทำเงินและทำลายชื่อเสียง

ส่วนของเอฟไฟว์ ทิศทางธุรกิจมุ่งช่วยลูกค้าบริหารจัดการแอพพลิเคชั่น มองว่าแอพที่แข็งแรงมีความหมายเท่ากับรายได้ของธุรกิจ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ รวมถึงการบริการพื้นฐานอย่าง การป้องกันต่อความเสี่ยง การพัฒนาความสามารถการใช้งานบนคลาวด์ ความสามารถในการต้านบอท การเข้ารหัสเพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลความลับ เพิ่มการตรวจจับภัยคุกคาม วิเคราะห์พฤติกรรมการโจมตีเพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านช่องทางจัดจำหน่าย ทำผ่านคู่ค้าดิสทริบิวเตอร์ 2 ราย คือ วีเอสทีอีซีเอสและเอ็กซ์คลูซีฟเน็ทเวิร์ค สินค้าหลักยังคงเป็นแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ ทั้งยังมีแอพพลิเคชั่นเซอร์วิส(ซิเคียวริตี้) และบริการคลาวด์

ล่าสุด เปิดตัวบริการใหม่สำหรับสภาพแวดล้อมมัลติคลาวด์ “BIG-IP Cloud Edition” ช่วยลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน สามารถประยุกต์ใช้และให้บริการตามนโยบายโดยอัตโนมัติ พร้อมด้วยโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยแอพ “Advanced Web Application Firewall” ออกแบบมาด้วยความสามารถในด้านการรักษาความปลอดภัยชั้นนำในอุตสาหกรรมที่จะช่วยปกป้องภัยคุกคามแบบรอบด้าน

เอฟไฟว์ระบุว่า ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ จากพฤติกรรมการใช้โมบายและโซเชียลที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะนี้การใช้งานสมาร์ทโฟนมีจำนวนกว่า 50 ล้านเครื่อง หรือสัดส่วน 70% ของประชากรท ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 46 ล้านราย คิดสัดส่วนการเข้าถึง 67% โซเชียลมีเดีย 46 ล้านราย สัดส่วน 67%

“พฤติกรรมผู้บริโภคเอเชียโดยเฉพาะในตลาดไทยนิยมใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค อีกด้านการมาของไอโอที โมบิลิตี้ ยังเพิ่มการใช้งานโมบายทราฟฟิก จำนวนดาต้าเติบโตก้าวกระโดด”

เขากล่าวว่า การลงทุนไอทีในประเทศไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว ผลักดันโดยดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ไทยแลนด์ 4.0 แม้ภาพการลทุนของรัฐยังไม่มาก ทว่าช่วยขับเคลื่อนเชิงนโยบาย มีการผลักดันบริการบนออนไลน์ การพัฒนาดิจิทัลแบงกิ้ง ทุกวันนี้การลงทุนด้านซิเคียวริตี้ถูกจัดเป็นความสำคัญอันดับแรกของทุกหน่วยงาน

ด้วยเทรนด์ดังกล่าวรวมถึงความนิยมใช้งานแอพพลิเคชั่นธุรกิจที่แพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้โซลูชั่นการบริการแอพพลิเคชั่น(แอพพลิเคชั่น เซอร์วิส) เติบโตสูงมาก ในระดับโลกคาดว่ารายได้ของบริษัทสามารถเติบโตได้เป็นตัวเลขสองหลัก ส่วนในไทยบริษัทคาดว่าปี 2561 ภาพรวมผลประกอบการจะเติบโตได้เกิน 20%