สธ.คุม 'ร้านอาหาร' ผิดปรับ5หมื่น ให้เวลา180วันแก้ให้ถูกสุขลักษณะ

สธ.คุม 'ร้านอาหาร' ผิดปรับ5หมื่น ให้เวลา180วันแก้ให้ถูกสุขลักษณะ

สธ.ออกกฎกระทรวงคุม "ร้านอาหาร" ผ่านการรับรองขนาดพื้นที่ไม่ถึงหรือเกิน 200 ตารางตร.ม. ให้ดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะ 4 หมวดใน 180 วันนับจากวันที่ 20 มิ.ย.2561 ยกเว้นร้านพื้นที่ทางสาธารณะที่ผู้ซื้อบริโภคได้ทันที ฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่น

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศ กฎกระทรวง เรื่อง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 ที่ลงนามโดยศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการที่ออกกฎกระทรวงนี้ เนื่องจากประชาชนมีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่ประกอบอาหารเอง เป็นนิยมบริโภคอาหารนอกบ้านหรือบริโภคอาหารปรุงสำเร็จ สถานที่จำหน่ายอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะจึงอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวจะยังไม่มีการบังคับใช้ในทันที จะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวโดยจะบังคับใช้ในอีก 180 วัน หลังจากวันที่มีการประกาศในวันที่ 20 มิ.ย.2561 ซึ่งในเรื่องรายละเอียดนั้นจะต้องมีการหารือกันอีกครั้งกับคณะทำงาน โดยจะต้องดูในบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้จะมีโทษตามมาตรา 68 พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท

ในส่วนที่ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์นั้น ให้ดำเนินการภายในกำหนดเวลา 2 ปีนับตั้งแต่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดให้ต้องมีการอบรมเรื่องใดบ้างในการประกอบอาหาร การปรุงต่างๆเบื้องต้นต้องการให้ท้องถิ่นเป็นผู้ฝึกอบรม อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้จะต้องมีการหารืออีกครั้ง

สำหรับสุขลักษณะสถานที่จำหน่ายอาหารตามกฎกระทรวงนี้ แยกเป็น 4 หมวด ได้แก่ 1.หมวดสถานที่จำหน่าย อาทิ พื้นบริเวณที่ใช้ประกอบอาหารต้องสะอาด วัสดุแข็งแรง ทำความสะอาดง่าย มีแสงสว่างเพียงพอ โต๊ะสำหรับบริโภคอาหารต้องสะอาด วัสดุแข็งแรง ไม่ชำรุด ต้องจัดให้มีส้วมสะอาด พร้อมใช้ แสงสว่างเพียงพอ แยกเป็นสัดส่วนและมีจำนวนเพียงพอ ต้องมีการจัดการเกี่ยวมูลฝอย ต้องแยกไขมันไปกำจัดก่อนระบายน้ำทิ้งออกสู่ระบบระบายน้ำ โดยใช้ถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน มีถังรองรับมูลฝอยที่ไม่รั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด แยกเศษอาหารจากมูลฝอยอื่น  ต้องมีมาตรการป้องกันสัตว์ แมลงนำโรค และสัตว์เลี้ยง

2.หมวดกรรมวิธีการทำ ประกอบหรือปรุง การเก็บรักษา และการจำหน่ายอาหาร อาทิ ต้องมีการจัดการเกี่ยวกับอาหารสด ต้องมีคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย เก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม เก็บเป็นสัดส่วน ไม่วางบนพื้นหรือบริเวณที่อาจทำให้อาหารปนเปื้อน ต้องมีการจัดการเกี่ยวกับอาหารแห่ง ไม่มีการปนเปื้อน ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ต้องมีการจัดการเกี่ยวกับอาหารปรุงสำเร็จ มีการป้องกันการปนเปื้อน วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และควบคุมคุณภาพตามชนิดของอาหาร ต้องมีการจัดการเกี่ยวกับน้ำแข็ง ต้องสะอาด ได้มาตรฐาน ใช้อุปกรณ์ในการคีบหรือตักน้ำแข็งโดยเฉพาะ ห้ามนำอาหารหรือสิ่งของอื่นไปแช่รวมกับน้ำแข็งบริโภค ต้องมีการจัดการสารเคมี สารทำความสะอาด วัตถุมีพิษหรือวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่ออาหาร

3.หมวดภาชนะ อุปกรณ์และเครื่องใช้อื่นๆ  อาทิ ต้องสะอาดและทำจากวัสดุที่ปลอดภัย เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท ต้องมีช้อนกลางสำหรับอาหารที่รับประทานร่วมกัน จัดให้มีการฆ่าเชื้อภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ภายหลังการทำความสะอาด และ4.หมวดผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร อาทิ ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะนำโรค โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจหรือโรคอื่นๆ มีการป้องกันการปนเปื้อน ต้องผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาดและป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหารได้

สำหรับกฎกระทรวงนี้ จะใช้บังคับกับสถานที่จำหน่ายอาหารตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งระบุว่า สถานที่จำหน่ายอาหาร หมายถึง อาคาร สถานที่หรือบริเวณใดๆที่มิใช่ที่หรือทางสาธารณะ ที่จัดไว้เพื่อประกอบอาหารหรือปรุงอาหารจนสำเร็จและจำหน่ายให้ผู้ซื้อสามารถบริโภคได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นจำหน่ายโดยมีบริเวณไว้สำหรับบริโภค ณ ที่นั้น หรือนำไปบริโภคที่อื่น

ทั้งนี้ สถานที่จำหน่ายอาหารนั้น ตามมาตรา 38 ระบุว่า ผู้ใดจะตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใดซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร(ตร.ม.) และมิใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และถ้าสถานที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตร.ม. ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อขอรับหนังสือรับรองการแจ้งก่อนการจัดตั้ง

 อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ หากเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ ให้ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นไปตามกำหนดภายในเวลา 180 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ เว้นแต่ สถานที่จำหน่ายอาหารที่พื้นที่ไม่เกิน 200 ตร.ม.ให้ดำเนินการเรื่องมาตรการ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับป้องกันอัคคีภัยจากการใช้เชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารภายใน 1 ปีนับแต่ใช้บังคับ