มทร.ธัญบุรี ปลื้ม! ติด 1 ใน10 พี่เลี้ยงดูแล 'วท.-ร.ร.' 15 แห่ง

มทร.ธัญบุรี ปลื้ม! ติด 1 ใน10 พี่เลี้ยงดูแล 'วท.-ร.ร.' 15 แห่ง

มทร.ธัญบุรี ติด 1 ใน10 มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงดูแล "5 วท.-10 ร.ร." รวม 15 แห่ง เพื่อพัฒนาระบบการเรียนรูปแบบใหม่ "เสต็มศึกษา" ปั่นนวัตกร เริ่ม 1 ก.ค.นี้

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้โครงการ Big Rock Projectหรือโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระจายองค์ความรู้ให้เข้าถึงได้โดยเฉพาะโรงเรียนภูมิภาค ซึ่งจะเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมของประเทศตามแนวทางการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

โครงการดังกล่าวได้ส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้‘โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม’ในสถานศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา และร่วมพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม ส่งเสริมการคิดอย่างสร้างสรรค์และสามารถออกแบบสร้างชิ้นงานโดยการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

โดย มทร.ธัญบุรี ได้เข้าร่วมในฐานะมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ภารกิจให้คำปรึกษาในการพัฒนาทักษะและความสามารถของนักเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม มีชิ้นงานหรือโครงการเกิดขึ้น ซึ่ง มทร.ธัญบุรี ดูแลทั้งหมด 15 แห่ง แยกเป็นวิทยาลัยเทคนิค 5 แห่ง โรงเรียนอีก 10 แห่งตามรายชื่อสถานศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก และเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เด็กนักเรียนเกิดแรงบันดาลใจและสนใจที่จะประกอบอาชีพวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต

ด้านดร.จุฬาลักษณ์ วัฒนานนท์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรีและเป็นSTEM AmbassadorThailandกล่าวว่า เราจะเน้นความรู้ใน 4 ด้านทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่าการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง STEM เข้ามาใช้ในโครงการเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล เกิดการเชื่อมโยงเนื้อหาอย่างมีเหตุมีผล ลดช่องทางทักษะการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การเป็นนักปฏิบัติมืออาชีพหรือนวัตกร ต่อไปได้

"โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโนลยี และคณะครุศาตร์อุตสาหกรรม ในการพัฒนาบ่มเพาะให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการการเรียนรู้ โดยนำแนวทาง STEM มาใช้ในการสร้างเสริมความเข้าใจของศาสตร์ต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ศาสตร์เหล่านี้ในการแก้ปัญหาจริง"ดร.จุฬาลักษณ์กล่าว

ผศ.จักรี รัศมีฉาย อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าวนี้คือการมีสถานที่ฝึกการเรียนรู้ การทดลอง และการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างชิ้นงานให้เกิดขึ้นต่อไป อันจะนำไปสู่ความเข้าใจในศาสตร์ต่าง ๆ อย่างถ่องแท้

อนึ่งมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เห็นชอบโครงการ Big Rock Project หรือโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรูปแบบของโครงการเป็นการยกเครื่องการเรียนการรู้แบบเสต็มศึกษา โดยสวทช.รับผิดชอบโครงการนี้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ก.ค.2561-ตุลาคม 2562 มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 150 แห่งกระจายอยุ่ทั่วทุกภูมิภาค และมี 10 มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง

ทั้งนี้ มีมหาวิทยาลัย10 แห่งเข้าร่วมโครง Big Rock Project มีดังนี้ มหาวิทยาเชียงใหม่(มช.), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.), มหาวิทยาลัยบูรพา(มบ.), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี),มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กรุงเทพ(มทร.กรุงเทพ)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา(มทร.ล้านนา),มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าธนบุรี(มจธ.),สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)