ส่งออกพ.ค.ขยายตัว11.4% -นำเข้าโต 11.7%

ส่งออกพ.ค.ขยายตัว11.4% -นำเข้าโต 11.7%

ส่งออกพ.ค.ขยายตัว11.4% -นำเข้าโต 11.7%

การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 11.4 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 โดยการส่งออกในตลาดสำคัญยกเว้นตะวันออกกลาง ขยายตัวทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และ CLMV มีการเติบโตต่อเนื่องและขยายตัวในระดับ 2 หลัก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการค้าระหว่างประเทศเดือนพฤษภาคม 2561 การส่งออกมีมูลค่า 22,257 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 21,053 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวตัวร้อยละ 11.7 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,204 ล้านดอลลาร์ สรอ. รวม 5 เดือนแรกของปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 104,032 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6) การนำเข้ามีมูลค่า 102,155 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6) และการค้าเกินดุล 1,877 ล้านดอลลาร์ สรอ.

สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป

ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.5 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และทูน่ากระป๋อง แนวโน้มการส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายการส่งออกที่ร้อยละ 8 และมีการกระจายตัวในตลาดใหม่ๆ มากขึ้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงระยะยาวผู้ประกอบการยังมีมุมมองที่เป็นบวกสะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก ไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ระดับ 66.0 ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับ 50

สำหรับแนวโน้มการส่งออกปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีและมีการกระจายตัวมากขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง แม้ในระยะสั้นอาจต้องเผชิญความผันผวนจากมาตรการการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีพื้นฐานการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มลดลงจะช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนในอนาคต กลุ่มประเทศยูโรโซน มีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีน แนวโน้มยังไปได้ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวสูงโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลดีต่อการส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยียังขยายตัวได้ดีสนับสนุนการส่งออกไทย แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอแต่มีสัญญาณดีขึ้นผลจากการเพิ่มค่าแรง

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยโดยตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันอาจพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันที่ลดลง อีกทั้งปริมาณน้ำมันของสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันให้สูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตาม