ร้อยความคิด 'วิจัยเพื่อท้องถิ่น' รับการเปลี่ยนแปลงทศวรรษหน้า

ร้อยความคิด 'วิจัยเพื่อท้องถิ่น' รับการเปลี่ยนแปลงทศวรรษหน้า

ผู้อำนวยการ สกว. ชวนประชาคมวิจัย 3 จังหวัดทางภาคเหนือ ร้อยความคิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ 5 ปี สกว. รองรับการเปลี่ยนแปลงศตวรรษหน้าอย่างยั่งยืนและมีพลัง

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. นำคณะผู้บริหาร สกว. โดยมี ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ดร.เลิศชาย ศิริชัย รองผอ.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมงาน “ข่วงผะหญา สืบฮิตสานฮอยฮ้อยกำกี๊ดคนฮักหละปูน ผะหญาจาวบ้าน : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และรับฟังความก้าวหน้าโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เพื่อกำหนดทิศทางงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ระยะต่อไป ร่วมกับนักวิจัย ภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นณ ใต้ถุนอาคารหอประชุมศิริมังคลาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา

โอกาสนี้ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของ สกว.ให้ความสำคัญกับการผสานพลังการทำงานกับภาคี และเครือข่ายกับทุกหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย สู่การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งการเป็นประเทศที่พัฒนา ไม่หมายถึงเรื่องเศรษฐกิจและรายได้เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นๆที่ทำให้สังคมมีคุณภาพ ทั้ง คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยผู้อำนวย สกว. ย้ำว่า พลังการขับเคลื่อน อยู่ที่แบบภาคีเครือข่ายไม่ได้เน้นที่ สกว. เพียงองค์กรเดียว สำหรับพลังการวิจัยที่ส่งผลกระทบกับสังคม เป็นการวิจัยนวัตกรรม ความหมายในที่นี่ วิจัย คือ ความรู้ แต่หลายกรณีกรณีงานวิจัยจะหยุดนิ่งอยู่ที่ความรู้และ ไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง แต่การจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ต้องเป็นงานวิจัยนวัตกรรม

“ส่วนจะรู้ได้อย่างไรนั้น นักวิจัยจะต้องกลับไปทบทวนว่า เราได้เรียนรู้อะไร สร้างผลกระทบอย่างไร ก่อนทำวิจัย นักวิจัยจะต้องนึกถึงผลกระทบ ทั้งในส่วน Output Outcome Impact ยกตัวอย่างการวิจัยเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในยุคแรกเป็นการสร้างนักวิจัย หรือ การฝึกให้ชาวบ้านได้รู้จักงานวิจัย และกระบวนการทำวิจัย เมื่อทำวิจัยเป็นแล้วนักวิจัยจะต้องรู้จักการทำงานของลักษณะเครือข่าย สร้างเครือข่าย ระยะต่อไปที่เราต้องทำคือ การกลับมาทบทวนว่าเราจะทำอย่างนี้อีกนานเท่าไหร่..

 สุดท้ายเราต้องการอะไรกันแน่ และ ทำอย่างไรถึงจะเกิดผลกระทบต่อสังคม เพราะมีหลายกรณีที่เราทำซ้ำ ซึ่งการทำงานลักษณะนี้ เรียกว่าการทำงานแบบMicro impactแต่ยังไม่ส่งผลกระทบการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้มากพอ (Macro impact ) และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ก็แค่ในชุมชน โดยไม่ได้ขยายผลเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาบางปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนมีปัญหาคล้ายกัน  ที่สำคัญการดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นนักวิจัยรุ่นกลางที่เก่ง สามารถคิดและให้ข้อเสนอแนะงานวิจัยให้เกิดผลกระทบทางสังคมได้”  ผู้อำนวยการ สกว.กล่าวและให้ความเห็น

จากนั้นผู้อำนวยการ สกว. กล่าวถึงการให้ทุนแบบใหม่ว่า สกว.มีรูปแบบการให้ทุนแบบใหม่ชื่อว่าTRP เน้น 2 เรื่อง คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ถ้าฐานรากเราเข้มแข็งการดำเนินงานต่างๆ ก็ถือจะง่ายตามไปด้วย และ 2 การพัฒนาเมือง มุ่งเน้นกลไกจังหวัดกับการดำเนินงานของบริษัทพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดการจัดการตัวเองแบบ Smart Communityรวมถึงการให้ทุน เรื่อง อนาคตศึกษา เพื่อทำให้เรารู้ว่า อีก 10 ปี 20 ปี ประเทศไทย หรือ จังหวัดลำพูนจะเป็นอย่างไร เช่นตอนนี้ล้งจีนมาซื้อลำไยไปหมด แล้ว อีก 10 ปี ข้างหน้าจะเหลือล้งไทยหรือไม่ เราจะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นเรื่องที่สามารถคิดต่อได้ ถ้ามองไปด้วยกันก็จะเป็นงานวิจัยอนาคตศึกษา ที่สร้างพลังให้กับชุมชน และ พื้นที่

ประเด็นเดียวกันนี้ อาจารย์นพพร นิลณรงค์ กล่าวว่า สิ่งที่ ผู้อำนวยการ สกว. พูด ทำให้ตนนึกถึงเรื่องครั้งอดีตที่ “ขุนศรีพนมมาศ” เจ้าเมืองลับแล ยิงเม็ดทุเรียนเข้าไปในป่า ทำให้ อ.ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดเดียวของภาคเหนือ ที่ปลูกทุเรียนไว้ล่วงหน้าถึง 50 – 60 ปี และส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่มาถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า การทำวิจัยจะมุ่งแต่ความรู้มันช้าไปดังนั้นตนจึงเห็นด้วยกับท่านผู้อำนวยการ สกว.ว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะต้องกำหนดเป้าหมายควบคู่กับการหาความรู้เข้าไปด้วย ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่แค่ 1 แต่จะเป็น 4 5 6 ยกตัวอย่างงานวิจัยการดูแลรักษาไม้พื้นถิ่นผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่แค่ไม้พื้นถิ่น แต่ยังแก้ปัญหาโลกร้อน และทรัพยากรให้กับจังหวัดลำพูน