วิจัยกินได้ ยกระดับรายได้

วิจัยกินได้ ยกระดับรายได้

“วิจัยกินได้” กรอบแนวคิดการทำวิจัยใหม่ มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ พร้อมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดีมากขึ้น

“วิจัยกินได้” กรอบแนวคิดการทำวิจัยใหม่ มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ พร้อมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดีมากขึ้น

วิสัยทัศน์และแนวนโยบายดังกล่าวมาจาก “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายในงานประชุมสัมมนาเรื่อง “อนาคตประเทศไทย โจทย์วิจัยเพื่อประชาชน” โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงบประมาณ เพื่อระดมความเห็นในการกำหนดโจทย์วิจัยและนวัตกรรมให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์และตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาของประชาชนได้

หาทางออกผลงานค้างหิ้ง

ในการบรรยายพิเศษเรื่อง “วิจัยอย่างคุ้มค่าตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ” กอบศักดิ์ ยกตัวอย่าง โครงการธนาคารปูม้า ที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี ใช้งานวิจัยเข้ามาสนับสนุนทำให้แต่ละชุมชนมีรายได้จากการขายปูม้า 2.5 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นรายได้รวมกว่า 2,500 ล้านบาทต่อเดือน โดยเป้าหมายธนาคารปูม้าครอบคลุมจังหวัดชายฝั่ง 500 แห่ง

“งานวิจัยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงแต่เป็นงานวิจัยที่กินได้ หมายความว่า จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ด้วยเทคโนโลยีและวิธีการที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการเข้าถึง เช่น ขณะนี้มีงานวิจัยที่ทำให้ทุเรียนและมะม่วงน้ำดอกไม้ติดลูกได้ตามช่วงเวลาที่ต้องการ และมีวิธีการเคลือบควบคุมไม่ให้สุกก่อนเวลาที่ต้องการ แต่ที่ผ่านมางานวิจัยไม่สามารถเข้าสู่ห้างหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง เพราะโจทย์วิจัยไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง”

ยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลีซึ่งมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยสูง จะนำภาคธุรกิจกับนักวิจัยมาคุยกันในมหาวิทยาลัยวิจัย เพื่อคัดเลือกโครงงานที่ตอบความต้องการของภาคเอกชน ทำให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ประสบความสำเร็จ ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนกรอบแนวคิดการทำวิจัยใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนส่วนใหญ่มากขึ้น

พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศเสนอขอทุนจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาโคเนื้อและโคนม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา ที่สามารถผลิตโคเนื้อคุณภาพดีเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ทดแทนการปลูกข้าว

หรือศูนย์ความเป็นเลิศทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านประมง หรือศูนย์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ที่ขอนแก่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้อ้อยกลายเป็นไบโอเคมีคัล ไบโอพลาสติก และศูนย์ความเป็นเลิศด้านยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน เป็นต้น

ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางที่เหมือนกันจะมีไม่เกิน 2-3 แห่ง กระจายไปในแต่ละพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คาดว่าอีก 5-10 ปีจะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกรส่วนใหญ่ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณเต็มที่ เพื่อผลักดันงานวิจัยเกิดประโยชน์ในการใช้งานจริง ไม่ใช่เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง

หากรอบการแพทย์-สุขภาพ

ขณะที่เวทีระดมสมอง “โจทย์วิจัยสำหรับวิถีชีวิตคนไทยและอาชีพของคนไทย” เพื่อหาแนวทางตอบโจทย์รัฐบาลที่มีความมุ่งหวังให้การวิจัยตรงตามความต้องการใช้ประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง สามารถเป็นรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนทำวิจัยในไทยยังไม่ถึง 1% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศเจริญแล้วใช้เงินลงทุนวิจัยปีละ 5-6% ของจีดีพี ฉะนั้น แนวทางการทำวิจัยของประเทศต้องมีเป้าหมายชัดเจน โดยมุ่งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มประสิทธิภาพและไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เปลี่ยนจากแนวคิดเดิมที่การทำวิจัยมุ่งเพื่อจดสิทธิบัตร

นายแพทย์จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางการดูแลสุขภาพคนไทยในอนาคต จะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น โดยเน้นต้องการองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากกว่าการเยียวยารักษา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

นอกจากนี้แนวทางการวิจัยทางการแพทย์ ควรศึกษาหาแนวทางควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อเกิดการเสียชีวิต รวมถึงแนวทางในการศึกษาโมเดลการบริหารจัดการที่เหมาะสมให้กับผู้ใช้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และบริบทสังคมในอนาคต ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้บริการ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยข้อมูลที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอแก่ ผู้ใช้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ