กระจายอำนาจมีทุจริต พบ 3 ปีร้องจัดจ้าง 30%

กระจายอำนาจมีทุจริต พบ 3 ปีร้องจัดจ้าง 30%

นักวิชาการ มธ.ระบุต้องกระจายอำนาจงานบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นดูแล ไม่ประกันไร้ทุจริตแต่เชื่อมั่นมีระบบการตรวจสอบดีกว่า เผยสถิติ 3 ปีการร้องเรียนทุจริตของอปท.พบ 30% เป็นเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.61 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 3 หัวข้อ “ท้องถิ่นVSสตง.กระบวนการจรวจสอบการจัดการท้องถิ่น” นายโกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมรวมอำนาจ ที่ระบบบริหารราชการส่วนใหญ่ในการจัดบริการสาธารณะที่ควรเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ก็ให้น้ำหนักไปที่ส่วนกลางมากว่า จะเห็นได้ว่ากรณีทุจริตที่ปรากฎ เช่น โกงเงินคนไร้ที่พึ่ง หรือ เงินคนจน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ล่าสุดปัญหาอาหากลางวันเด็ก ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มาจากส่วนกลางดูแล เพราะมีจุดอ่อนในเชิงการตรวจสอบ

“การจัดบริการสาธารณะที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนนั้น ควรต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการ ซึ่งไม่ได้ยืนยัน 100% ว่าจะไม่มีการทุจริต แต่เป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตได้ เนื่องจากมีหน่วยกำกับดูแลมากกว่าส่วนกลาง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟ้องเงิน (ปปง.)ในระดับจังหวัด ยังมีผู้ว่าราชการ นายอำเภอในฐานะหน่วยกำกับตามกฎหมาย สภาท้องถิ่น ที่สำคัญคือภาคประชาสังคมตรงนี้จะทำให้เกิดการคอรัปชันได้ยากขึ้น ขณะที่ส่วนกลางก็ทำหน้าที่ในเชิงการบริหารเชิงนโยบายเท่านั้น”นายโกวิทย์ กล่าว

นายโกวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 11 ด้านเยียวยาในสิ่งที่สังคมขาด เช่น ความเหลื่อมล้ำ การก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 แต่ยังไม่แตะเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชันทั้งที่เรายังมีปัญหาเรื่องนี้ คะแนนความโปร่งใสยังไม่ขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลสถิติการร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบว่าปี 2558 มีการร้องเรียน 1,318 เรื่อง ปี 2559 ร้องเรียน 1,250 เรื่อง และปี 2560 ร้องเรียน 553 เรื่อง โดยเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 30% คือปัญหาการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง รองลงมา เรื่องการใช้ตำแหน่งหาประโยชน์ 20% เช่น การสอบเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนขั้นเงินเดือนในทุกวงการราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น และ 15% การเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจ ระหว่างสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)และ อปท. สิทธิประโยชน์ของประชาชนชุมชนที่เกี่ยวกับบริการสาธารณะ

thumbnail_ภาพประกอบ_วิทยากรผู้ร่วมวงเสวนา

“แนวโน้มการร้องเรียนทุจริตในอปท.ลดลง ปัญหาเรื่องจัดซื้อจัดจ้างส่วนหนึ่งเพราะ สตง.มีการให้ข้อมูลชัดเจนถึงบทบาทหน้าที่ ทำความเข้าใจจึงช่วยลดปัญหา ส่วนการสอบ/แต่งตั้งโยกย้ายต่างๆที่มีปัญหาเรื้อรังในอดีต ปัจจุบันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 มากำกับทำให้การทุจริตลดลงแต่ก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องที่ปรากฏออกมาวันนี้เกิดจากประชาชนเจ้าของสิทธิ์ ที่เห็นความไม่ชอบมาพากลและก็มี สตง.ตรวจสอบพบ คำถามคือถ้าตรวจสอบไม่ได้จะทำเช่นไร ดังนั้น ประเทศไทยต้องปฏิรูปการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันนำมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติ ผู้นำไทยต้องประกาศและทำเป็นตัวอย่าง” นายโกวิทย์ระบุ

นายโกวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ มีข้อเสนอ 4 ด้านเพื่อป้องกันทุจริตในอปท. คือ 1.ด้านกฎหมายและกำกับดูแล ต้องบังคับใช้กฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเข้มงวด เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของอปท.และสตง.ตรวจสอบข้อมูลเข้มงวด มีข้อเสนอแนะให้อปท. ทำงานมีประสิทธิภาพ 2.ด้านสิทธิประชาชน ให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจสิทธิของตนเอง เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบและการทุจริต 3.สร้างแบบอย่างที่ดี โดยอปท. ทำโมเดลต้นแบบป้องกันการทุจริตเอง และ4.ปลูกฝังเด็กและเยาวชน ให้มีค่านิยมต่อต้านการทุจริตสอดแทรกในเนื้อหาหลักสูตรตั้งแต่อนุบาล-อุดมศึกษา

ด้าน นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า อปท. มีบทบาทหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชน การตรวจสอบของ สตง. นั้นจะทำงานในเชิงรุกเพื่อป้องปรามหากพบว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหา เช่น กรณีมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างถ้า สตง. พบว่าอาจจะเกิดปัญหาก็จะมีหนังสือแจ้งเตือน เป็นต้น อย่างไรก็ ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สตง. ได้จัดทำบัญญัติ 7 ข้อใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบการดำเนินการงานของ อปท. ดังนี้ อำนาจหน้าที่,แผนพัฒนาท้องถิ่น,การจัดทำงบประมาณ ,แผนการเบิกจ่ายงบประมาณ, ดุลยพินิจ,ประโยชน์สาธารณะ และโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยในทุกข้อต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ระเบียบเงื่อนไขการเบิกจ่าย ที่สำคัญทุกแผนงานจะต้องผ่านการฟังเสียงประชาคมแล้ว โดยขณะนี้ สตง.ได้มีการประชุมทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ สตง. ในพื้นที่และเร็วๆนี้ จะประชุมทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่อปท.ต่อไป