กรอ.สั่งพักใบอนุญาต รง.นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ 5 ราย

กรอ.สั่งพักใบอนุญาต รง.นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ 5 ราย

กรอ.สั่งพักใบอนุญาต รง.นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ 5 ราย งดการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมให้เร่งส่งชิ้นส่วนลักลอบกว่า 14,000 ตันกลับสู่ต้นทาง

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 รายพร้อมงดการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลา 1 ปี ฐานกระทำผิดเงื่อนไขส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตคัดแยกแทนโดยยังได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ออกคำสั่งตามมาตรา 52 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้กลุ่มโรงงานที่รับซากอิเล็กทรอนิกส์จาก 5 โรงงานดังกล่าวมาคัดแยก ทำการส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คืนบริษัทต้นทางจำนวนกว่า14,000ตัน ภายใน 30 วัน นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ยังเร่งเดินหน้าตรวจสอบความถูกต้องโรงงานที่รับรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 148 แห่ง ในจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี พร้อมทบทวนกฎระเบียบการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายและการกำจัดข้ามแดนร่วมกับคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล โดยคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนมิถุนายน 61

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัดบริษัท โอ.จี.ไอ จำกัดบริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และบริษัท เอส.เอส.อิมปอร์ตเอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยไม่ให้มีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลา 1 ปี ฐานกระทำผิดเงื่อนไขส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตคัดแยกแทนส่วนโรงงานที่รับซากอิเล็กทรอนิกส์จาก 5 โรงงานดังกล่าว มาคัดแยกหรือครอบครองโดยที่ไม่มีใบอนุญาตตามอนุสัญญาบาเซล กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ออกคำสั่งตามมาตรา 52 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้ทำการส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีไว้ในครอบครองคืนบริษัทต้นทางจำนวนกว่า 14,000 ตัน

นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ กรอ.ได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ออกคำสั่งให้บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ส่งซากอิเล็กทรอนิกส์กลับคืนบริษัทต้นทาง หลังพบข้อเท็จจริงว่า บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทยฯ ไม่ได้มีใบอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่มีสิทธิ์คัดแยกหรือครอบครองชิ้นส่วนดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535อย่างไรก็ตาม กรอ.พบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับซากอิเล็กทรอนิกส์จาก 3 บริษัทผู้นำเข้ารวมทั้งสิ้น 1,590 ตัน ได้แก่บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 1,120 ตัน บริษัท โอ.จี.ไอ จำกัดจำนวน 350 ตัน และบริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ปอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดจำนวน 120 ตัน นอกจากนี้ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทยฯ ยังต้องดำเนินการส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปยังบริษัทผู้นำเข้าภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับคำสั่ง โดย กรอ.จะกำชับเรื่องกระบวนการขนส่งให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานของกรมโดยการใช้ระบบ GPS พร้อมทั้งให้ทางบริษัทจัดส่งบันทึกเส้นทางการเดินรถตั้งแต่ต้นทางจนถึงบริษัทผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างทางขนส่งอย่างเข้มงวด

พร้อมกันนี้กรอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับกรมศุลกากรประจำการที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อร่วมตรวจสอบตู้สินค้า ที่อาจเข้าข่ายต้องควบคุมตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พร้อมกับลงพื้นที่ในจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทั้ง 148 โรงงานที่รับรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังจะมีการทบทวนกฎระเบียบการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายและการกำจัดข้ามแดนร่วมกับคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเป็นทิศทางในการกำหนดนโยบายการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัตถุอันตราย เช่นเดียวกับกรณีแบตเตอรี่ตะกั่ว – กรด โดยคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนมิถุนายน 61 นายมงคล กล่าวสรุป