ชาวอีสาน66.9%ไม่รู้ 250ส.ว.สรรหามีสิทธิโหวตนายกฯ

ชาวอีสาน66.9%ไม่รู้ 250ส.ว.สรรหามีสิทธิโหวตนายกฯ

โพลล์เผยชาวอีสาน 66.9% ไม่รู้ 250ส.ว.สรรหา มีสิทธิโหวตนายกฯ และเกินครึ่งไม่ทราบว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า มีแนวทางหลายอย่างที่ต่างจากเดิม

วันนี้ (20มิถุนายน 2561) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “คนอีสานรู้หรือยังเลือกตั้งส.ส. ครั้งหน้าต่างจากเดิม” ผลสำรวจพบว่า เกินครึ่งไม่ทราบว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า มีแนวทางหลายอย่างที่ต่างจากเดิม แต่เกินครึ่งชอบแนวทางหรือรูปแบบใหม่ในการเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้า ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการอนุญาตให้จัดมหรสพช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้ การทำไพมารีโหวตและการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบใหม่

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจว่าคนอีสานได้ทราบถึงแนวทางและวิธีการเลือกตั้งส.ส. ครั้งหน้าซึ่งจะต่างจากเดิมในหลายๆ ประเด็น มากน้อยน้อยเพียงใด และชอบหรือไม่ชอบวิธีการดังกล่าวมากน้อยเพียงใดทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน2561 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน1,191ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
จากการสอบถามว่า แนวทาง/วิธีการเลือกตั้งสส. ครั้งหน้าจะต่างจากเดิมท่านรู้หรือไม่และชอบแนวทางนี้หรือไม่ โดยทำการสอบถามทั้งหมด 8 ประเด็นและได้ผลดังนี้

ข้อที่ 1 จะอนุญาตให้จัดมหรสพช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้
ร้อยละ 53.9 รู้ ร้อยละ 46.1 ไม่รู้
ร้อยละ 64.4 ชอบ ร้อยละ 35.6 ไม่ชอบ

ข้อที่ 2 จะมีบัตรลงคะแนนแค่ใบเดียว คือเลือกผู้สมัครแบบเขตได้เบอร์เดียว แล้วค่อยนำคะแนนของผู้สมัครรวมของแต่ละพรรคไปคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พึงได้
ร้อยละ 40.0 รู้ ร้อยละ 60.0 ไม่รู้
ร้อยละ 62.5 ชอบ ร้อยละ 37.5 ไม่ชอบ

ข้อที่ 3 หมายเลขผู้สมัครของแต่ละพรรคในแต่ละเขตจะไม่เหมือนกันซึ่งระบบเดิมจะใช้ระบบพรรคเดียวหมายเลขเดียวทั่วประเทศ
ร้อยละ 38.5 รู้ ร้อยละ 61.5 ไม่รู้
ร้อยละ 57.6 ชอบ ร้อยละ 42.4 ไม่ชอบ

ข้อที่ 4 ในแต่ละเขตเลือกตั้งอาจจะมีจำนวนผู้สมัครส.ส. สูงถึง 40-50 หมายเลขเนื่องจากมีพรรคการเมืองจำนวนมาก
ร้อยละ 40.7 รู้ ร้อยละ 59.3 ไม่รู้
ร้อยละ 54.0 ชอบ ร้อยละ 46.0 ไม่ชอบ

ข้อที่ 5 ในการส่งผู้สมัครลงแต่ละเขตในจังหวัดใดจะต้องทำการหยั่งเสียงโดยสมาชิกพรรคในแต่ละจังหวัด (ไพมารีโหวต)
ร้อยละ 38.5 รู้ ร้อยละ 61.2 ไม่รู้
ร้อยละ 63.6 ชอบ ร้อยละ 36.4 ไม่ชอบ

ข้อที่ 6 พรรคการเมืองที่มีส.ส. มากกว่า 5% หรือ 25 เสียงจะสามารถเสนอรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภาได้ 3 รายชื่อ
ร้อยละ 30.3 รู้ ร้อยละ 69.7 ไม่รู้
ร้อยละ 57.2 ชอบ ร้อยละ 42.8 ไม่ชอบ

ข้อที่ 7 สว. (สรรหา) 250 เสียงจะมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส. 500 เสียง
ร้อยละ 31.3 รู้ ร้อยละ 66.9 ไม่รู้
ร้อยละ 60.4 ชอบร้อยละ 39.36 ไม่ชอบ

ข้อที่ 8 พรรคที่ได้ 251 เสียงอาจจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้แต่ยังต้องการเสียงอีก 125 เสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆและจากส.ว. เพื่อให้ได้เสียง 376 เสียงขึ้นไปจึงจะตั้งรัฐบาลได้
ร้อยละ 31.3 รู้ ร้อยละ 68.7 ไม่รู้
ร้อยละ 60.3 ชอบ ร้อยละ 39.7 ไม่ชอบ