เมสเซ่แฟรงค์เฟิร์ตปลุกลงทุนซิเคียวริตี้

เมสเซ่แฟรงค์เฟิร์ตปลุกลงทุนซิเคียวริตี้

โหนกระแสลงทุนซิเคียวริตี้ในไทยโตไม่หยุด จับมือ “เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี” พร้อมภาครัฐ-เอกชน จัดอีเวนท์ใหญ่ “ซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018” เพิ่มกระแส ดันเป็นเวทีโชว์เคสสินค้าระดับนานาชาติ

นายศิระพัฒน์ เกตุธาร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. จำกัด กล่าวว่า ตลาดอุปกรณ์และโซลูชั่นระบบรักษาความปลอดภัยประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละประมาณ 10-12% และคาดว่าปีนี้มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท จากปีก่อนหน้ามูลค่าราว 3.5 พันล้านบาท

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ไว้ว่าเมื่อถึงปี 2565 ระดับโลกภาพรวมตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 3.729 แสนล้านดอลลาร์ ช่วงระหว่างปี 2560-2565 อัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.16% โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากเทคโนโลยีระบบการรักษาความปลอดภัยที่มีบทบาทมากขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับ อาคาร ที่พักอาศัย ยานพาหนะ สถานที่ทำงานของภาครัฐและเอกชน ครอบคลุมถึงชีวิตและทรัพย์สิน

ขณะเดียวกัน ยังพัฒนาเป็นระบบป้องกันอัคคีภัย ภัยทางธรรมชาติ ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดอุปกรณ์และโซลูชั่นด้านระบบรักษาความปลอดภัยมีทิศทางและแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นางสาวเรจิน่า ไส รองผู้จัดการทั่วไป เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต นิวเอร่า บิสซิเนส มีเดีย กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 6 และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก นับเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงต่อการลงทุน ดังนั้นเมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต มีแผนขยายเครือข่ายงานแสดงสินค้าภายใต้แบรนด์ ซีเคียวเทค ในประเทศไทยต่อเนื่อง ทั้งมีเป้าหมายผลักดันให้ซีเคียวเทค ไทยแลนด์ ก้าวสู่การเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติด้านระบบรักษาความปลอดภัยและการป้องกันอัคคีภัย

ล่าสุด เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ตฯ ร่วมกับ เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน “ซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018” ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. 2561 ธีมปีนี้มุ่งนำเสนอเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ เซฟซิตี้ พร้อมมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ผู้เข้าฟังมองเห็นแนวโน้มของตลาดและโอกาสทางธุรกิจด้านความปลอดภัยและการป้องกันอัคคีภัยที่เกิดจากความต้องการของตลาดทุกภาคส่วน 

ด้านสินค้าที่จะนำมาจัดแสดงหลักๆ ยังคงเป็นเทคโนโลยีด้านระบบรักษาปลอดภัย สมาร์ทโฮม อาคารอัจฉริยะ สมาร์ท รีเทล ระบบการป้องกันภัยพิบัติ อัคคีภัย ทั้งเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ เบื้องต้นคาดว่าจะเกิดเงินสะพัดภายในงานไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท คาดด้วยว่าจะเกิดการเจรจาธุรกิจเพื่อจัดทำโครงการร่วมกันภายหลังด้วย

นายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หนึ่งในพันธมิตร กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นวาระแห่งชาติ เป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาเมืองเพื่อการอยู่อาศัยในอนาคตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และตรวจสอบให้เมืองมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย เป็นเมืองศูนย์กลางการติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ การเป็นเมืองต้นแบบการเกษตรอัจฉริยะ การเป็นศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์และสุขภาพระดับนานาชาติ

ส่วนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนา 77 พื้นที่ใน 77 จังหวัดเป็นสมาร์ทซิตี้ภายใน 5 ปี โดยแบ่งเมืองเป็น 2 กลุ่มตามแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คือ เมืองน่าอยู่ หรือสมาร์ทซิตี้เมืองเดิม และเมืองใหม่อัจฉริยะ

โดยใช้กลไกความร่วมมือจากการลงทุนของภาคเอกชน ร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และการสนับสนุนของภาครัฐในการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดเพื่อผลักดันสมาร์ทซิตี้ของประเทศไทยขึ้นสู่มาตรฐานสากล โดยจุดมุ่งหมายสำคัญคือปี 2565 ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของเมืองอัจฉริยะในภูมิภาค