อาชญากรกลัวยึดทรัพย์มากกว่าประหาร

อาชญากรกลัวยึดทรัพย์มากกว่าประหาร

กสม.ชี้ประหารชีวิตนักโทษรายล่าสุด ทำไทยชะงักจากกลุ่มประเทศที่ไม่มีโทษประหารในทางปฏิบัติ เร่งรณรงค์เผยแพร่แนวคิด ทำให้ตายตกตามกันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ต้องให้อภัยกันและกัน ระบุอาชญากรกบัวถูกยึดทรัพย์มากกว่าประหารชีวิต

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.61 นายชาติชาย สุทธิกลม รักษาการประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวถึงกรณีการประหารชีวิตนักโทษชายธีรศักดิ์ซึ่งเป็นรายล่าสุดในรอบ 8 ปีว่า ในฐานะกรรมการสิทธิฯเห็นว่าไม่สมควรที่จะมีโทษประหารชีวิต แต่ไทยมีบทบัญญัติกฎหมายหลายฉบับจึงต้องพิจารณาว่าความผิดประเภทใดสมควรที่จะมีโทษประหารชีวิตหรือไม่ประหารชีวิต หรือให้โอกาสและทางเลือกอื่นกับผู้กระทำผิดเพื่อแก้ไขกลับตัว

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลก็มีพัฒนาการเป็นขั้นตอนในการปรับปรุง และแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โอกาสกับผู้กระทำผิดผ่านแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 ที่จัดทำโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จนทำให้ไทยว่างเว้นจากโทษประหารชีวิตมานานถึง 8 -9 ปื ดังนั้นการตัดสินประหารชีวิตครั้งนี้จึงส่งกระทบให้ไทยเกิดภาวะชะงักงัน ไม่สามารถทำให้ไทยเป็นประเทศที่พักการลงโทษประหารชีวิตได้ในทางปฏิบัติหากครบกำหนด 10 ปีอย่างที่อยากจะเห็น

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า สำหรับโทษประหารชีวิตคงมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะครอบครัวหรือญาติของผู้สูญเสียหรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งกรรมการสิทธิฯ อยากรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวว่า การทำให้ชีวิตต้องตายตกตามกัน ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่ควรใช้หลักการให้อภัยซึ่งกันและกัน และการละเว้นจะทำให้สังคมเกิดความสงบสุขปลอดภัยมากกว่า ส่วนข้อกังวลที่ระบุว่า นักโทษส่วนใหญ่เมื่อพ้นโทษจะกลับไปก่อเหตุซ้ำนั้นต้องดูว่ามีจำนวนเท่าใด และเมื่ออยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์แล้วทำไมออกมาจึงแก้ไขพฤติกรรมไม่ได้ ส่วนตัวเห็นว่า นักโทษคดีร้ายแรงส่วนใหญ่ไม่กลัวโทษประหาร แต่กลัวถูกยึดทรัพย์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ไม่ให้ไม่มีโทษประหารชีวิต แต่ให้มีน้อยที่สุด